Dr Visa Article – 29 January 2020

“ซิน-เจีย-ยู่-อี่ ซิน-นี้-ฮวด-ใช้” ฉลองตรุษจีน 2020 ตอบคำถามวีซ่าออสเตรเลีย 5 คำถามยอดฮ๊อตฮิ๊ตนิยม

แฟนคลับคุณหมอวีซ่าที่รักทุกท่าน ขอสวัสดีทีเดียวทั้งปีใหม่กับตรุษจีนปี 2020 ไปพร้อมๆกันเลยนะคะ ต้องขออภัยที่ตั้งแต่ปีใหม่เป็นต้นมา จริงๆแล้วคุณหมอวีซ่ามีเรื่องเล่าที่น่าสนใจเกี่ยวกับวีซ่าออสเตรเลียให้ฟังมากมาย แต่พอดีตำราหมอดูเกือบทุกเล่มก็ว่าปีนี้เป็นปีชง จะเชื่อหรือไม่เชื่อก็อย่าลบหลู่ แต่ก็น่าจะเป็นจริง เพราะตั้งแต่ต้นปีมา คุณหมอวีซ่าก็เข้าโรงพยาบาลไปผ่าตัดซิสต์ในโพรงไซนัสมา จากนั้นก็ต้องพักฟื้นจากการผ่าตัดครั้งนี้จึงไม่ได้มีเวลาเขียนเรื่องราวที่สนุกๆมาเล่าสู่กันฟัง ต้องขออภัยมา ณ ที่นี้ด้วยนะคะ และก็อยากแสดงความขอบคุณทุกท่านที่มีการติดตามถามไถ่ ส่งความรักและความห่วงใยกันเข้ามาถึงคุณหมอวีซ่า ขอขอบคุณจากใจจริงค่ะ ขอให้คุณความดีที่ทุกท่านได้ทำไว้ จงส่งผลบุญให้ทุกท่านมีสุขภาพที่แข็งแรง มีความสุขในชีวิต คิดสิ่งใดก็ขอให้สมปรารถนาทุกเรื่อง มีทรัพย์ร่ำรวยเฮงๆกันทุกท่านเลยนะคะ

 

สำหรับบทความคุณหมอวีซ่าในวันนี้ อยากนำคำถามยอดนิยมสัก 5 คำถามจากลูกค้าในปีที่ผ่านมา มาเล่าสู่กันฟัง พร้อมตอบคำถามให้เป็นความรู้ของท่านผู้อ่านที่รัก ซึ่งอาจจะตรงกับคำถามในใจของหลายท่านที่กำลังเผชิญและอยากทราบคำตอบที่ถูกต้องอยู่ก็ได้ค่ะ แต่โปรดจำไว้เสมอว่า การปรึกษาเรื่องวีซ่ากับผู้เชี่ยวชาญก็จะเปรียบเสมือนกับคนไข้ที่ไปหาหมอ จะต้องบรรยายอาการป่วยไข้ของตนให้คุณหมอฟังอย่างละเอียด เพราะอาการของคนไข้แต่ละคนก็แตกต่างกันไป จึงมีวิธีการรักษาที่แตกต่างกัน การจ่ายยาก็จะแตกต่างกัน ทำนองเดียวกับเรื่องวีซ่า การอ้างอิงถึงตัวบทกฎหมายแต่ละข้อ ก็จะมีความแตกต่างกันไปแล้วแต่กรณีๆไปเช่นกัน บทความที่เขียนนี้ จึงเป็นเพียงไกด์ไลน์กว้างๆให้อ่านสนุกๆกันแถมได้ความรู้เท่านั้น ไม่ได้เป็นการแก้ปัญหาวีซ่าให้ใครโดยเฉพาะ ยิ่งถ้าเป็นเรื่องซับซ้อนยิ่งขึ้นเท่าไหร่ ก็แนะนำว่า ให้เข้าพบที่ปรึกษากฎหมายเข้าเมืองที่ขึ้นทะเบียนอย่างถูกต้องตามกฏหมายที่เรียกกันว่า Australian Registered Migration Agent หรือ RMA โดยท่านสามารถเช็ครายชื่อของผู้ที่ขึ้นทะเบียนเป็น RMA ได้จากเว็บไซต์ของ Migration Agents Registration Authority หรือ MARA เช่นของคุณหมอวีซ่าก็ตรวจได้จากลิงค์ https://www.mara.gov.au/search-the-register-of-migration-agents/registered-migration-agent-details/?id=ae9075b1-a652-e311-9402-005056ab0eca

ส่วนเลขทะเบียนของ RMA จะเป็นตัวเลข 7 ตัว โดยสองตัวแรกจะเป็นตัวเลขที่บ่งบอกถึงปีที่ขึ้นทะเบียน อย่างของคุณหมอวีซ่าเป็น Migration Agent Registration Number หรือย่อว่า MARN: 9896337 ก็จะทราบได้ทันทีว่า ขึ้นทะเบียนเป็น RMA มาตั้งแต่ปี ค.ศ. 1998  = มีประสบการณ์มาแล้ว 22 ปี เป็นต้น

 

หากท่านผู้อ่านใช้เอเย่นที่ไม่ถือใบทะเบียนขึ้นตรงกับ MARA และไปโดนหลอกมาด้วยคำแนะนำที่ผิดๆ เสียเงินไปมากมายแล้ว แต่วีซ่ากลับเล๊ะตุ้มเป๊ะกลับมาจนหลายท่านก็แทบจะเอาตัวไม่รอด เพราะถูกยกเลิกวีซ่าไปโดยที่เจ้าตัวเองไม่รู้อีโหน่อีเหน่เลยก็มี อย่างนี้ท่านก็ไม่สามารถไปร้องขอให้ทาง MARA ช่วยท่านได้

 

เอาหล่ะ งั้นคุณหมอวีซ่าขอเริ่มเรื่องเลยก็แล้วกันนะคะ โดยขอเริ่มต้นด้วยคำถามยอดนิยมอันดับแรก ก็คือ

 

  •  “ผมอยากไปทำงานหาเงินที่ออสเตรเลีย แต่ไม่อยากไปเรียน มีช่องทางไหนบ้างครับ?”

ตอบ: ก่อนอื่นคุณหมอวีซ่าขอชี้แจงก่อนว่า ช่องทางการได้วีซ่าเข้าไปทำงานที่ประเทศ Australia อย่างถูกต้องตามกฎหมายนั้น มีอยู่มากมายหลายช่องทาง เช่น อาศัยวุฒิ และทักษะในสายอาชีพของตน หรือมีนายจ้างที่ออสเตรเลียเป็นสปอนเซอร์ให้ หรือมีแฟนเป็นชาวออสซี่เป็นสปอนเซอร์ให้ เป็นต้น ไม่จำเป็นต้องเข้าด้วยวีซ่านักเรียนแต่เพียงอย่างเดียว แต่สำหรับบางท่านที่ไม่มีช่องทางในการได้วีซ่าทำงานโดยตรง อย่างเช่น มีวุฒิและคุณสมบัติไม่เพียงพอ การถือวีซ่านักเรียนเข้าไปเรียนก่อนก็เท่ากับเป็นการเสริมทักษะทางด้านภาษาอังกฤษกับความรู้ในวิชาชีพต่างๆในเบื้องต้น ซึ่งก็ถือเป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้เราได้เข้าไปศึกษาหาความรู้ไปพร้อมๆกับทำงานได้ 40 ชั่วโมงต่อทุกสองสัปดาห์ในช่วงเปิดเทอม และทำงานเต็มเวลาได้ในช่วงปิดเทอม เพียงแต่ต้องปรึกษาผู้รู้ให้รอบคอบว่า จะต้องลงเรียนในหลักสูตรอะไรที่เมื่อหลังเรียนจบแล้ว จะได้ทำงานที่ตรงกับสายอาชีพที่เป็นที่ต้องการของออสเตรเลีย เพื่อให้ได้มาซึ่งสิทธิในการทำงาน หรือให้นายจ้างสามารถสปอนเซอร์ให้เราอยู่ทำงานต่อให้เขาได้ จะได้ลดโอกาสให้เกิดการผิดพลาดน้อยที่สุดตั้งแต่ต้น

 

  • “ผมต่อวีซ่าที่ออสเตรเลีย อิมมิเกรชั่นออก บริดจิ้งวีซ่า C ให้ผม แต่เพื่อนๆผมเค้าได้ บริดจิ้งวีซ่า A กัน ทำไมถึงเป็นเช่นนี้ละครับ”

ตอบ: ก่อนอื่น คุณหมอวีซ่าต้องขอชี้แจงก่อนว่า บริดจิ้งวีซ่านั้น ใช้เฉพาะกับการยื่นวีซ่าภายในประเทศ Australia เท่านั้นนะคะ ส่วนการยื่นวีซ่าจากนอกประเทศออสเตรเลียนั้น จะไม่มีการออกบริดจิ้งวีซ่าให้ค่ะ และตามที่ชื่อก็บอกอยู่แล้ว คำว่า บริดจิ้ง เขียนเป็นภาษาอังกฤษว่า Bridging แปลว่า สะพานเชื่อม หมายความว่าในการยื่นวีซ่าหลักจากตัวหนึ่งไปอีกตัวนึงนั้น ในระหว่างที่อิมมิเกรชั่นยังไม่ได้ตัดสินใจว่าจะออกหรือไม่ออกวีซ่าตัวที่เราขอไปให้เราหรือเปล่านั้น ก็เสมือนเขาจับเราไปยืนอยู่บนสะพานชั่วคราวก่อน จนกระทั่งเขาพร้อมที่จะตัดสินใจให้หรือไม่ให้ข้ามฝั่ง ถ้าวีซ่าผ่านก็เท่ากับ เราเดินข้ามสะพานไปอีกฝั่งหนึ่งสำเร็จ แต่ถ้าเกิดวีซ่าไม่ผ่านขึ้นมา ก็เสมือนกับตกสะพานจมน้ำนั่นเองแหล่ะค่ะ บริดจิ้งวีซ่านั้น มีอยู่ทั้งหมด 6 ประเภทด้วยกัน คือ Bridging Visa A, B, C, D, E, F ในจำนวนนี้ มี Bridging Visa A (BVA) กับ BVB ที่มีภาษีดีที่สุด BVA จะออกให้ตอนเรายื่นขอวีซ่าตัวใหม่ในขณะที่วีซ่าหลักตัวเดิมเรายังไม่หมดอายุ หากเราเกิดมีความจำเป็นที่จะต้องเดินทาง ก็ให้ไปยื่นขอ BVB ได้ แต่ในกรณีที่เราไปยื่นขอวีซ่าหลักตัวใหม่ในขณะที่วีซ่าตัวเดิมเราได้หมดอายุไปแล้ว แต่ยังไม่เกิน 28 วัน (ซึ่งเราเรียกว่า Grace period) ทางอิมฯ ก็จะออก BVC ให้ (เพียงครั้งเดียวเท่านั้น) ส่วนในกรณีที่เราไปยื่นขอวีซ่าหลังจากที่วีซ่าหลักตัวเดิมของเราหมดอายุไปเกิน 28 วันแล้ว เราก็จะได้ BVE มา ซึ่งเป็นบริดจิ้งวีซ่าที่ไม่พึงปรารถนาค่ะ

 

  • “วีซ่าผมหมดอายุไปแล้ว แต่ผมยังอยากอยู่ Australia ต่ออีกสองสามปีเพื่อทำงานหาเงิน ก่อนกลับบ้าน เอเย่นผมยื่นเรื่องเรฟูจีวีซ่าให้ผม อันนี้เป็นวิธีที่ถูกต้องไหมครับ?”

ตอบ: การยื่นเรฟูจีวีซ่า หรือภาษาอังกฤษเรียกว่า Protection Visa (subclass 866) นั้น เป็นวีซ่าผู้ลี้ภัยประเภทที่ขอความคุ้มครองจากรัฐบาลออสเตรเลีย เนื่องจากหากส่งเรากลับประเทศของเราเอง ชีวิตเราอาจได้รับอันตราย จึงทำให้เราเกิดความหวาดกลัว อาจด้วยภัยของสงครามหรือภัยทางสังคม หรือการเมือง หรืออื่นๆก็ตาม ส่วนใหญ่แล้วการทำวีซ่าประเภทนี้เป็นเพียงการยืดต่อเวลาให้ได้ชั่วคราว แต่ประเทศไทยของเรานั้นไม่ได้เป็นประเทศลี้ภัย หรือมีสงครามแต่อย่างใด (จะมีก็แต่ภัยยาบ้ากระมัง) ดังนั้นวีซ่าตัวนี้ จะสังเกตว่าเวลาเอเย่นยื่นวีซ่าตัวนี้ให้ มักจะไม่ใช้ชื่อของเค้ายื่น แต่จะใช้ชื่อของตัวผู้ขอวีซ่ายื่นเข้าไปเอง เนื่องจากหากไม่ได้มีเหตุผลที่เป็นผู้ลี้ภัยจริงๆ การยื่นวีซ่าตัวนี้เข้าไป ก็จะทำให้ประวัติของเราเสีย เอเย่นเองก็ไม่อยากเสียชื่อ จึงจะไม่ใช้ชื่อของเค้ายื่นเข้าไปนั่นเอง และสำหรับผู้ที่เคยมีประวัติขอวีซ่าตัวนี้มาก่อน ในอนาคตการที่จะขอวีซ่าตัวใหม่กลับเข้ามาออสเตรเลียอีกครั้งนั้น จะเป็นสิ่งที่ยากมาก แปลว่ามีประวัติวีซ่าเสียไปเลยก็ว่าได้ แต่สำหรับคนที่เดินสายช่องทางนี้โดยทั่วไปแล้วอิมมิเกรชั่นจะใช้เวลาพิจารณาประมาณสามเดือนก่อนจะปฏิเสธหากคุณสมบัติผู้ยื่นไม่ถึง จากนั้นท่านก็อาจมีสิทธิ์ไปยื่นขออุทธรณ์ที่ตุลาการ (AAT)ได้ และไปรอคิวที่ศาลตุลาการตรงนี้อีกสักระยะ แล้วถ้าตรงนี้ไม่ผ่านก็ยังสามารถทำเรื่องต่อไปที่ศาล Federal Circuit Court ได้อีก หากตอนนี้ยังไม่ผ่านอีก และหากท่านยังอยากจะยื้อเวลาต่อไปอีก ท่านสามารถยื่นขอความเห็นใจจากท่านรัฐมนตรีกระทรวงตรวจคนเข้าเมืองโดยตรงหรือที่เรียกว่า Ministerial Intervention ได้อีกขั้นหนึ่ง แต่การทำเช่นนี้จะทำให้ประวัติวีซ่าของท่านเน่าฝุดๆ (ว่ากันตามประสาชาวบ้านนะคะ) เป็นวิธีการยื่นวีซ่าที่ผิดวัตถุประสงค์และไม่แนะนำอย่างยิ่งค่ะ ในอนาคตเมื่อออกจากออสเตรเลียไปแล้ว ก็คงจะขอวีซ่าตัวใหม่กลับเข้าไปได้ยากมาก

 

  • “หนูมีแฟนเป็นชาวออสเตรเลีย เขาอยากจะสปอนเซอร์ให้หนูได้อยู่กับเขาที่ออสเตรเลียด้วยวีซ่าคู่ครอง (Partner Visa) แต่เขายังไม่ได้หย่าจากภรรยาเก่าเขาเลย จึงจดทะเบียนสมรสให้หนูไม่ได้ จะมีวิธียื่นวีซ่าให้หนูได้ไหมคะ”

ตอบ: ก่อนอื่นต้องทำความเข้าใจก่อนว่า ผู้ที่เป็นสปอนเซอร์ชาวออสเตรเลียนั้น ทั้งชีวิตของเขา กฎหมายจะอนุมัติให้เค้ายื่นสปอนเซอร์คู่ครองจากต่างประเทศได้เพียง 2 คนเท่านั้น และแต่ละคนจะต้องห่างกัน 5 ปี จากนั้นก็ต้องมีเหตุผลที่น่าเห็นใจจริงๆถึงจะอนุมัติให้เขาสปอนเซอร์คนที่ 3 ขึ้นไปได้ ในการยื่นวีซ่าคู่ครองนั้น ท่านสามารถยื่นได้ด้วย 3 วิธี ก็คือ วิธีแรก โดยการจดทะเบียนสมรส (Marriage Registration) วิธีที่สอง โดยการจดทะเบียนความสัมพันธ์ (Relationship Registration)  หรือวิธีที่สาม โดยการกินอยู่ร่วมฉันท์สามีภรรยากันมาแล้วเป็นเวลาขั้นต่ำ 12 เดือน (de-facto) ในกรณีนี้ แฟนของผู้ยื่นวีซ่าไม่สามารถที่จะจดทะเบียนสมรสหรือจดทะเบียนความสัมพันธ์ให้ได้ เพราะยังไม่ได้หย่ามาจากภรรยาเก่า ผู้ยื่นจึงต้องเก็บหลักฐานกินอยู่กับสปอนเซอร์มาให้ครบ 12 เดือน ก็จะสามารถยื่นวีซ่าคู่ครอง (Partner Visa) แบบ de-facto ได้ค่ะ

 

  • “ได้ทราบมาว่า ตั้งแต่วันที่ 16 พฤศจิกายน ค.ศ. 2019 เป็นต้นไป รัฐบาลออสเตรเลียได้เปิดตัววีซ่าเขตภูมิภาค (Regional Provisional visa) แบบชั่วคราวใหม่สุดอยู่สองตัว คือ วีซ่า 491 กับ 494 เห็นเพื่อนๆผมพากันโยกย้ายไปอยู่ต่างรัฐกันหมดเลย  คุณหมอวีซ่าช่วยอธิบายได้ไหมครับว่า เป็นการ เคลื่อนไหวที่ถูกต้องหรือเปล่าครับ” 

ตอบ: วีซ่าชั่วคราวสองตัวนี้ กำลังเป็นวีซ่ายอดนิยมอยู่เลยทีเดียว ทำให้ผู้ถือวีซ่านักเรียน หรือวีซ่าทำงานบางตัวหลายท่านโยกย้ายไปอยู่ในเขตภูมิภาคกันเยอะ เพื่อที่จะให้ได้สิทธิ์ทำวีซ่าสองตัวนี้หลังจากเรียนจบในเขตภูมิภาคนั้นๆ โดยถ้าได้วีซ่าทำงานตัวนี้มา ก็จะได้มาเป็นเวลา 5 ปี มีสิทธิ์ทำงาน full time ได้ แถมได้ประกันสุขภาพ Medicare ด้วย และเมื่อถือครบ 3 ปี โดยที่ผู้ถือวีซ่าได้ปฏิบัติตามเงื่อนไขของวีซ่าครบทุกประการอย่างไม่บกพร่อง ผู้ถือวีซ่าก็จะมีสิทธิ์ข้ามฝั่งไปสู่วีซ่าถาวร 191 (Permanent Resident)ได้ ในระหว่างที่ถือวีซ่า 491 หรือ 494 ผู้ถือวีซ่าสามารถตั้งหลักแหล่งทำงานในเขตภูมิภาคต่างๆในรัฐที่สปอนเซอร์ตน แต่ห้ามย้ายออกจากรัฐนั้นๆ และมีสิทธิ์ ทำงาน ทำการค้า เรียนหนังสือ หรือประกอบการอื่นๆในเขตภูมิภาคต่างๆภายในรัฐนั้นๆได้ทุกประการ

 

วีซ่ายอดนิยมตัวที่ 1: วีซ่าทักษะทำงานในเขตภูมิภาค 491 (Skilled Work Regional 491 Visa) 

วีซ่า 491 ตัวนี้ เป็นวีซ่าทักษะที่ให้สิทธิ์ผู้ถือวีซ่าในการอาศัยอยู่ ทำงาน และเรียนหนังสือในเขตภูมิภาคได้เป็นเวลา 5 ปี และใช้เดินทางเข้าออกออสเตรเลียกี่ครั้งก็ได้ตลอดชั่วอายุของวีซ่า คร่าวๆ ผู้ยื่นจะต้อง:

– มีรัฐบาลภูมิภาคหรือญาติที่มีภูมิลำเนาอาศัยอยู่ในเขตภูมิภาคเป็นสปอนเซอร์ให้

– ประกอบอาชีพที่มีรายการลงอยู่ในรายชื่ออาชีพตามทักษะที่เป็นที่ต้องการ (Skilled Occupation List) 

– ผ่านการประเมินวุฒิและอาชีพเทียบเคียงเท่ากับวุฒิที่องค์กรประเมินอาชีพต่างๆรับรอง

– ได้รับจดหมายเชิญจากอิมมิเกรชั่นให้ทำการยื่นวีซ่า 491 ได้

– ผ่านระบบนับแต้มได้ครบขั้นต่ำ 65 คะแนน โดยอาศัยคุณสมบัติทางอายุ ความสามารถทางภาษาอังกฤษ วุฒิการศึกษา และประสบการทำงานของตน เป็นต้น 

 

นอกจากคุณสมบัติดังกล่าวข้างต้นแล้ว อยากได้วีซ่าตัวนี้ ผู้ยื่นจะต้องมีอายุไม่เกิน 45 ปี ณ เวลาที่อิมมิเกรชั่นฯออกจดหมายเชิญให้ยื่นวีซ่า 491 ได้ และสอบผ่าน IELTS ได้คะแนนมาได้ 6 ผ่านการตรวจร่างกายและสันติบาล ไม่เคยติดหนี้สินรัฐบาลออสเตรเลีย และไม่เคยถูกปฏิเสธหรือแคนเซิลวีซ่ามาก่อน โดยรัฐบาลจะออกจดหมายเชิญให้สมัครวีซ่าโดยจะคัดจากผู้ที่รวมคะแนนทักษะได้สูงที่สุดก่อน

 

วีซ่ายอดนิยมตัวที่ 2: วีซ่าทักษะชั่วคราวแบบมีนายจ้างในเขตภูมิภาคเป็นสปอนเซอร์ 494 ( Skilled Sponsored Provisional Regional 494 Visa) 

วีซ่า 494 ตัวนี้ มีสองแบบด้วยกันคือ

  • แบบมีนายจ้างที่เปิดธุรกิจร้านค้าในเขตภูมิภาคเป็นสปอนเซอร์ให้ไปทำงานให้เขา (Employer Sponsored stream) เนื่องจากนายจ้างหาคนทำงานในท้องถิ่นไม่ได้
  • หรืออีกแบบหนึ่งคือ ผ่านสนธิสัญญาการว่าจ้างแรงงานที่ได้ตกลงทำไว้กับรัฐบาลออสเตรเลีย ที่เรียกว่า Labour Agreement stream

สำหรับวีซ่า 494 ตัวนี้จะแตกต่างกับวีซ่าคู่ขา 491 ตรงที่จะต้องมีนายจ้างในเขตภูมิภาคเป็นสปอนเซอร์ให้ในสายอาชีพที่มีระบุไว้ใน Skilled Occupation List สำหรับวีซ่า 494 โดยเฉพาะ และจะต้องมีการจ่ายค่าธรรมเนียมสมทบทุนฝึกอบรมเสริมสร้างทักษะให้กับราษฎรของออสเตรเลียที่เรียกว่า Skilling Australians Funds (SAF) ทุกปี

 

ผู้ยื่นยังต้องมีอายุต่ำกว่า 45 ปี ณ เวลาที่ยื่นเรื่อง (มีข้อยกเว้นจำกัด) ผ่านการสอบภาษาอังกฤษได้ในระดับ IELTS 6  และจะต้องผ่านการประเมินทักษะจากหน่วยงานการประเมินวุฒิและประสบการณ์ตามที่รัฐบาลกำหนด โดยมีข้อยกเว้นเฉพาะกรณี

 

ด้วยความที่วีซ่าสองตัวนี้ กำลังมาแรงส์  ทีมงานคุณหมอวีซ่าจึงขอให้คุณหมอวีซ่าทำการอภิปรายในสัมมนาให้ทุกท่านที่อยากทราบรายละเอียดเพิ่มเติมเข้ามาฟังมาเรียนรู้รายละเอียดกันได้ โดยในวันสัมมนา ยังจะมีการให้แง่คิด และการมองภาพในอนาคตของผู้ที่สนใจกำลังจะลงทะเบียนไปเรียนต่อที่ออสเตรเลียว่า จากวันนี้ถึงวันนั้นที่เราสำเร็จ ต้องวางแผนการเรียนอย่างไร เรียนวิชา สายอาชีพใดจึงจะสามารถข้ามฝั่งไปได้ตามกฎเกณฑ์อย่างถูกต้องตามกฎหมายและตรงตามข้อกำหนดที่รัฐบาลออสเตรเลียประกาศออกมา เป็นต้น อย่าลืมว่า หากเราวางแผนการเรียนให้ถูกต้องเสียแต่เนิ่นๆก่อนเดินทางเข้าไปเรียนที่ออสเตรเลีย เรียนจบเมื่อไหร่ เราสามารถขอวีซ่าทำงาน Post Study Work visa subclass 485 ในเขต Designated Regional area นี้ต่อได้อีก 3-4 ปีมากกว่าผู้ที่จบจาก Major Cities ที่ได้วีซ่าทำงานต่อหลังเรียนจบเพียงแค่  2 ปีเท่านั้นนะคะ

 

รีบจองกันเข้ามาฟังสัมมนา ฟรี โดยคุณหมอวีซ่าโดยตรง ในวันเสาร์ที่ 1 February 2020 จัดที่ห้องประชุมของ CP International Bangkok ชั้น 9 อาคารพหลโยธินเพลส (สถานีรถไฟฟ้าอารีย์ ทางออก 4) จะจองกันผ่านโทรศัพท์ที่เบอร์ CP Bangkok office 66-2-278-1236  หรือผ่าน Facebook: CP International,  www.cpinternational.com  หรือ Line: @cpinter ช่องทางติดต่อมีเยอะค่ะ รายการโปรโมชั่นดีๆอย่างดี อย่าพลาดนะคะ ลงทะเบียนเข้าร่วมงานคลิก http://bit.ly/2ESc1SX

 

 

ด้วยความปรารถนาดี

จาก คุณหมอวีซ่า