Thaipress 01/07/2010

Updates ที่ทุกคนรอคอยในที่สุดก็มีการประกาศออกมาแล้ว โดยท่านรัฐมนตรี Chris Evans เซ็นต์รับรองลงมาตั้งแต่วันที่ 17 June 2010 แต่เพิ่งจะมาประกาศให้ชาวบ้านรับทราบกันเมื่อ 22 June 2010 นี้เอง ก่อนที่คุณหมอวีซ่าจะชี้แจงรายละเอียดของการเปลี่ยนแปลงต่างๆของวีซ่าทักษะ (Skilled Visas) ที่อาจส่งผลกระทบต่อน้องๆลูกๆหลานๆที่กำลังตัดสินใจจะเรียนคอร์สอะไรในออสเตรเลียกันดีเพื่อให้ถูกต้องตรงตามเป้าหมายในการที่จะได้ขออยู่ทำงานหรืออยู่อย่างถาวรในเมืองจิงโจ้ต่อไปในอนาคต

คุณหมอวีซ่าอยากจะขอนำเรื่องสำคัญที่เป็นเรื่องจริงที่เกิดกับนักเรียนไทยคนหนึ่งที่อาศัยอยู่ในรัฐ NSW มาเล่าสู่กันฟังเพื่อช่วยมิให้หลายๆคนต้องตกเป็นเหยื่อรับอันตรายจากวิธีการทำมาหากินของพวกมิจฉาชีพที่คอยคิดหาวิธีใหม่ๆมาหลอกคนกัน ช่วงนี้มีกลุ่มที่มีพื้นเพเป็นชาวตะวันออกกลางคอยหลอกผู้ยื่นขอวีซ่าประเภทต่างๆที่ยังผ่านการอนุมัติวีซ่าหลักและถือบริดจิ้งวีซ่าทั้งหลาย เอาเป็นขอเรียกนามสมมุติของผู้เคราะห์ร้ายรายนี้เป็นน้อง A ก็แล้วกันนะคะ เมื่อคืนวันศุกร์สัปดาห์ที่ผ่านมาตอนประมาณทุ่มเศษๆ จู่ๆน้อง A ก็ได้รับโทรศัพท์จากผู้ชายคนหนึ่งที่สำเนียงออกไปเป็นชนแถบๆชาวอาหรับ เลบานิส หรือ ตุรกี น้องเองก็ไม่แน่ใจ แต่มั่นใจว่าเป็นคนแถวๆ Middle East ค่อนข้างแน่ชัดในสำเนียงการพูด ชายคนนี้จู่ๆก็โทรศัพท์เข้ามือถือน้องเขาโดยถามว่าน้องถือบริดจิ้งวีซ่าและกำลังดำเนินเรื่องอยู่ใน MRT ใช่ไหม เขาว่าเขาสามารถช่วยให้วีซ่าผ่านได้ ให้เอาพาสปอร์ต บัตรประจำตัวพร้อมสมุดธนาคารไปเจอเขาในวันจันทร์สัปดาห์ต่อมาเวลา 9.00 น. เช้า และให้ที่อยู่นัดพบเป็นหมายเลข 132 ถนนสายหนึ่งใน Redfern น้องก็ไม่แน่ใจว่าเกิดอะไรขึ้น และเป็นเจ้าหน้าที่โทรมาหรือเปล่า ก็เลยบอกไปว่า ถ้าเป็นเรื่องอิมฯฉันมีเอเย่นให้โทรไปติดต่อกับเอเย่นฉันสิ ชายหัวหมอจอมหลอกลวงคนนี้ก็รีบตอบว่า ก็เอเย่นเธอให้โทรมานี่แหละ แต่เขาไม่สามารถระบุได้ว่าเป็นเอเย่นไหน น้องก็เลยเอะใจ โทรมาที่ CP ขอความช่วยเหลือว่าควรทำอย่างไรดี เมื่อเช็คไปทางอิมฯกับ MRT ให้น้องโดยตรง ปรากฎว่าไม่มี record ว่ามีเจ้าหน้าที่คนไหนโทรไปหาน้องเลยทั้งสิ้น เอเย่นก็ไม่ได้สั่งให้โทรไปและพอตรวจ address ที่เจ้ามิจฉาชีพให้มา ปรากฎว่าเป็นโรงจอดรถและอยู่ในซอยเปลี่ยวมืด แถว Redfern ซึ่งขึ้นชื่อว่าเป็นเขตค่อนข้างมีสถิติการเกิดคดีอาชญากรรมสูง จึงแนะนำน้องให้แจ้งความตำรวจและห้ามโผล่ไปตามที่ๆ นัดหมายอย่างเด็ดขาด คุณหมอวีซ่าจึงเกิดความเป็นห่วงน้องๆ ทั้งหลายที่อายุยังน้อย ภาษาก็ยังไม่แข็งแรงมากนัก และพอมีเสียงฝรั่งโทรเข้ามาก็ตกใจรีบไปทำตามที่เขาบอก ขอเตือนว่าให้เช็คกับเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องก่อน อย่าไปหลงกลโจรผู้ร้ายเข้าง่ายๆ ถ้าเขาว่าโทรมาจากเอเย่นก็ให้เช็คกับเอเย่นของตนเองซะว่ามีให้ใครโทรมาหาไหม เป็นต้น อยู่เมืองนอกเมืองนาต้องรู้จักดูแลตัวเองให้ดีๆ คนในต่างถิ่นมีทั้งคนดีคนชั่ว การมาหลอกลวงเด็กๆด้วยเล่ห์กลอย่างนี้ น่ารังเกียจเป็นเศษมนุษย์จริงๆค่ะ

คราวนี้ก็มาเรื่องของวีซ่าทักษะ (Skilled Visas) ที่มี Updates ออกมาใช้หลัง 1 July 2010 ล่าสุดซึ่งคุณหมอวีซ่าขอสรุปเป็นข้อๆ เพื่อง่ายต่อการอ่าน ดังนี้นะคะ

(1.) อิมฯ ได้ออก “รายการอาชีพ” (Skilled Occupation List – SOL) มาให้ใช้ทั้งหมด 4 ชุดด้วยกัน เรียกชื่อว่า
Schedule 1 – สำหรับผู้ที่ยื่นเรื่องวีซ่าทักษะทุกประเภทก่อนวันที่ 1 July 2010
Schedule 2 – สำหรับผู้ถือวีซ่า 485, 885, 886, 487 หรือถือวีซ่านักเรียนประเภท 572, 573 และ 574ในช่วง 8 Feb 2010 – 31 December 2012
Schedule 3 – สำหรับผู้ยื่นเรื่องขอวีซ่าทักษะหลังวันที่ 1 July 2010
Schedule 4 – สำหรับผู้ที่ขอวีซ่า 176, 886, 475 และ 487 ที่ยื่นเรื่องหลัง1 July 2010 และมีรัฐบาลรัฐหรืออาณานิคม (State or Territory Government เป็นสปอนเซอร์ให้

(2.) ทั้ง 4 schedule ประกอบไปด้วยรายชื่อของสายอาชีพต่าง ๆ โดยที่ Schedule 1 ยังใช้ตำรับอาชีพเดิมคือ “ASCO” เป็นหลัก ส่วน Schedules ที่เหลือเปลี่ยนมาใช้ตำรับใหม่คือ “ANZSCO” กันแล้วทั้งหมด ทุก Schedule มีการระบุหน่วยงานประเมินอาชีพทุกสาขา (Assessing Authority) และกำหนดแต้มให้กับแต่ละสายอาชีพมาอย่างเรียบร้อย
หมายเหตุ: ANZSCO ย่อมาจาก Australian and New Zealand Standard Classification of Occupations ส่วน ASCO นั้นเป็นตำรับเล่มเก่าที่ระบุอาชีพที่เคยใช้กับประเทศออสเตรเลียเพียงประเทศเดียวที่เรียกว่า Australian Standard Classification of Occupations

(3.) สำหรับน้อง ๆ ที่เคยยื่น Skilled Visas รุ่น Subclass 134, 136, 137, 138 และ 139 ท่านก็ได้ประกาศออกมาแล้วว่าสำหรับงบประมาณปีการเงิน 01 July 2009 – 30 June 2010 ได้จำกัดที่สำหรับวีซ่า 134 ไว้ที่ 245 ที่ วีซ่า 136 – 137 ให้ 2,506 ที่ และ 138 – 139 ให้เพียง 546 ที่

(4.) เน้นวีซ่านายจ้างสปอนเซอร์ (Employer Nomination) โดยการยกระดับเงินเดือนให้ผู้ขอวีซ่า ENS จาก $45,220 ต่อปี เป็น $47,480 และในสาย IT จาก $61,920 เป็น $65,020 ต่อปี

(5.) สำหรับน้อง ๆ ที่เรียนและจบสาย Cookery, Hairdressing มา รุ่นที่ได้ยื่นเรื่องขอวีซ่า PR Subclass 861, 862, 880, 881, 495, 175, 176, 475, 487, 885 และ 886 ไว้ก่อนวันที่ 8 กุมภาพันธ์ 2010 แต่ยังไม่ทราบผล รวมทั้งผู้ที่ถือหรือได้ยื่นเรื่องวีซ่า 485 กับผู้ที่ยื่นวีซ่าถาวร 885, 886 หรือ 457 เข้าไปก่อนวันที่ 1 มกราคม 2013 ก็ยังมีสิทธิ์ใช้แต้มจากรายการอาชีพที่ขาดแคลน คือ Migration Occupation in Demand List (MODL)ได้อยู่ ก็คือรวมกลุ่มน้องๆที่เรียนจบสาย trades หลายสายที่ถูกยกเลิกไป

(6.) ข่าวสำหรับน้อง ๆ ที่เรียนและจบสาย I.T. มา – Australian Computer Society (ACS) ได้ประกาศแล้วว่า ผู้ที่ยื่นขอ assessment จาก ACS หลัง 1 กรกฏาคม 2010 ต้องเสนอรายการอาชีพใน ANZSCO ทั้งหมด สำหรับผู้ที่อยู่ในช่วงข้ามฝั่ง (Transition) ทาง ACS ได้ออก list ใหม่ที่เรียกว่า Pre – Application Skills Assessment (PASA) ซึ่งเป็นตารางเปรียบเทียบ ASCO – ANZSCO เพื่ออำนวยความสะดวกให้ใช้กันในช่วงการเปลี่ยนแปลงนี้ PASA ใช้กับกลุ่มไหนบ้าง?

  • น้อง ๆ ที่ขอ PR โดยอาศัยอาชีพทาง IT ที่ได้รับผลกระทบจาการยกเลิก GSM บางกลุ่มตามประกาศของอิมมิเกรชั่นเมื่อวันที่ 08 พฤษภาคม 2010
  • มีวุฒิที่เหมมาะสมตามเงื่อนไขของ PASA ณ เวลาที่ยื่นฟอร์มขอการประเมินเข้าไป
  • ได้รับผลการประเมินจาก ACS ในช่วง 1 พฤษภาคม 2010 – 30 มิถุนายน 2010
  • สามารถพิสูจน์ได้ว่า ณ.วันที่ 1 กรกฏาคม 2010 ตนเองมีวุฒิและคุณสมบัติตรงตามที่ระบุไว้ใน SOL หรือ ENSOL อย่างใกล้ชิด
  • ประสงค์ให้ ACS ประเมินอาชีพ I.T. ของตนใหม่ภายใต้เงื่อนไขของ ANZSCO ในช่วง transitional period

น้องๆ สาย I.T. ที่ไม่แน่ใจว่าตนเองจะเข้าข่ายหรือไม่ ก็สามารถขอทำเรื่อง Review ใหม่ได้ โดยดูรายละเอียดได้ที่ “https://www.acs.org.au” www.acs.org.au นะคะ

(7.) สำหรับวิธีการนับแต้ม ตอนนี้ยังไม่มีการประกาศเพิ่มเติมต้องอดใจรอดูอีกนิดว่าท่านจะมีการปรับเปลี่ยนอย่างใดไหมนะคะ ส่วนในช่วงนี้ที่ยังไม่มีการประกาศ ก็คงยังต้องใช้ตารางเดิมนับแต้มกันไปก่อนพลางๆ ค่ะ
ยุคนี้เป็นยุคที่รัฐบาลออสเตรเลียปิดประตูเมือง จะสังเกตเห็นว่า วีซ่าเกือบทุกตัวยากไปหมดเลย ตั้งแต่วีซ่านักเรียน วีซ่าทักษะ กระทั่งวีซ่าแต่งงงานที่เคยว่ากันว่าง่าย ตอนนี้ก็ใช้เวลาแสนยาวนานกว่าจะอนุมัติกันลงมาได้ การที่นโยบายของประเทศออสเตรเลียเกิดการเปลี่ยนแปลงมากมายอย่างกระทันหัน อาจจะด้วยสาเหตที่มีการคำนวณอัตราส่วนของประชากรกับพื้นที่การทำมาหากินในผืนแผ่นดินจิงโจ้ และพบว่าต้องมีการ slow down อย่างที่คุณหมอวีซ่าเคย comment ไปใน Thai Press ฉบับก่อนๆ จึงทำให้นโยบายวีซ่าของออสเตรเลียอุตลุตวุ่นวายกันไปหมด ผ่านกันยากเย็นมาช้านาน แต่ที่แปลกใจก็คือตัววีซ่าที่ปัจจุบันช่วยให้น้อง ๆ อยู่ต่อกันได้อย่างราบรื่น ก็คือ น้อง ๆ ที่ถูกโรงเรียนยกเลิก หรือ cancel visa ไปแล้ว แต่มีเหตุผลดี ๆ และเมื่อทำ submission เข้าไปดีๆ ตามข้ออ้างอิงทางกฏหมายให้ถูกต้อง ก็ยังสามารถเอาวีซ่าคืนให้น้องๆ ได้อย่างไม่ยากนัก สรุปแล้วในท่ามกลางความเคี่ยวสุดๆ ของอิมฯ ก็ยังมีช่องทางที่ยังเปิดไว้บ้างนะคะ…

คุณหมอวีซ่าต้องขออภัยที่สัญญาว่าจะเขียนวีซ่า PR ของประเทศ New Zealand ต่อเป็นตอนที่ 2 ในฉบับนี้ แต่ก็ต้องขอแทรกเรื่องอัพเดทเรื่องนี้เข้าไว้ก่อน เนื่องจากมี updates วีซ่าทักษะเข้ามาหลายเรื่อง จึงขอลัดคิวก่อน เอาไว้ฉบับหน้าคุณหมอวีซ่าจึงจะขอเขียนตอนที่ 2 ของวีซ่า NZ ต่อ ว่าด้วยเรื่องของวิธีการและเงื่อนไขการสมัคร PR ที่ถูกต้องตามกฏหมายของประเทศ NZ ไว้ให้น้อง ๆ ที่คิดว่าตนเองเข้าข่ายไว้พิจารณาทางเลือกดูนะคะ อย่าไปหลงเชื่อว่าได้มาอย่างง่ายๆ อันนี้ยืนยันว่าข้อกำหนดของกฎหมายของเมืองกีวีไม่ได้สะดวก หรือง่ายดายอย่างที่คิดเลยนะคะ อยากได้สัญชาติในเมืองจิงโจ้หรือเมืองกีวี ก็ต้องอาศัยความพยายามทั้งนั้น เพราะประเทศเหล่านี้ รวมแถวๆอังกฤษ อเมริกา แคนาดา เขาคัดแต่ผู้อพยพที่มีคุณภาพให้เข้าไปอยู่สร้างความเจริญให้เมืองของเขากัน จึงไม่มีอะไรได้มาอย่างง่ายๆหรอกค่ะ ทำทุกอย่างให้ถูกต้องตามกฎหมาย สบายใจดีค่ะ

มีคำถามเกี่ยวกับการสมัครหรือสถานะวีซ่าออสเตรเลียของคุณ? ต้องการสมัครเพื่อศึกษาต่อ ทำงาน หรืออาศัยอยู่ในออสเตรเลีย? สามารถขอคำแนะนำจากทีมคุณหมอวีซ่าได้ที่: