28 May 2013

สวัสดีค่ะผู้อ่านของคุณหมอวีซ่าทุกท่าน เพิ่งจะผ่านวันพระใหญ่วิสาขะฯไปเมื่ออาทิตย์ที่แล้ว ไม่ทราบว่ามีใครไปทำบุญมาบ้างหรือเปล่าค่ะ เห็นที่เมืองไทยเขามีการไปเดินเวียนเทียนกัน คุณหมอวีซ่าเป็นคนหนึ่งที่งานยุ่งจนไม่มีเวลาไปเข้าโบสถ์วัดวาอารามกะคนอื่นเขาบ้างเลย เวลาทำธุระส่วนตัวก็ยังจะแทบจะไม่มี จนลูกน้องขนานนามให้เป็น “คนของประชาชน” ไปเสียแล้ว เนื่องจากมีลูกค้าที่ต้องการความช่วยเหลือมากมายเหลือเกิน สารพัดปัญหาให้ช่วยแก้ จำได้ครั้งหนึ่งนานมาแล้วหลวงพ่อท่านหนึ่งเคยนำเอกสารมาให้แปลที่บริษัทฯ ซึ่งคุณหมอวีซ่าก็แปลถวายท่านไปและขอขมาท่านไปว่าเราไม่มีเวลาไปเข้าวัดเยี่ยมท่านเลย ทำแต่งานยุ่งจนหัวฟูอย่างโบราณท่านว่าให้งานมาเบียดเบียนตนเข้าสูตรเลยค่ะ ท่านก็ยิ้มอย่างใจดีแล้วก็บอกว่า “ไม่เป็นไรหรอกโยม หลวงพ่อเข้าใจ การทำดีนั้นอยู่ที่จิตใจและการกระทำของตัวเราเอง หลวงพ่อรู้จักชื่อเสียงของโยมดี การที่โยมได้ใช้สติปัญญาช่วยเหลือผู้คนที่เป็นทุกข์ให้พ้นทุกข์และครอบครัวคนรักให้ได้มาอยู่ด้วยกัน ช่วยเด็กๆให้มีอนาคตที่ดี ก็ถือว่าได้ทำบุญกุศลแล้ว…” สาธุจริงๆค่ะ คำสอนของหลวงพ่อท่านนี้ คุณหมอวีซ่าจำขึ้นใจมาโดยตลอดและใช้เป็นหลักปฏิบัติอยู่จนทุกวันนี้

ช่วงนี้คุณหมอวีซ่าหนีฝนหน้าหนาวของซิดนีย์มาประจำการอยู่ที่เมืองไทยหนึ่งเดือน แต่ไม่ว่าจะอยู่ที่ไหน ก็จะได้รับสายตรงจากลูกค้าสอบถามเรื่องวีซ่าเข้าออสเตรเลียเข้ามาอย่างไม่ขาดสาย ไม่ว่าจะโทรมาหาคุณหมอวีซ่าเอง ผ่าน Skype เข้ามา หรือว่าโทรมาหาน้องๆทีมงาน นัดเต็มไปสองสัปดาห์ล่วงหน้าในช่วงนี้ จนหลายเคสก็ไม่สามารถรับได้ เพราะทีมงานคงทำงานกันไม่ทันแน่ๆ เพราะการทำงานเตรียมใบสมัครแต่ละใบคุณหมอวีซ่าก็สอนให้จะต้องทำให้ดีและสมบูรณ์แบบที่สุดเท่าที่จะทำได้ เพื่อช่วยอำนวยความสะดวกในการพิจารณาเรื่องให้กับเจ้าหน้าที่อิมฯ เคสจะได้ผ่านไวผ่านง่ายขึ้นหากเราได้อ้างอิงกฎหมายข้อที่ถูกต้องตรงจุดและมีเอกสารประกอบครบถ้วน ตามธรรมชาติของมนุษย์แล้ว หากเจออะไรยุ่งยากก็ไม่อยากจับไม่อยากทำ การยื่นเอกสารก็เหมือนกัน ถ้าได้เตรียมเคสเข้าไปอย่างพร้อมเพียงทุกอย่าง เจ้าหน้าที่ก็ไม่ต้องมานั่งไล่ตามเอกสารเพิ่มเติมจากเรา ท่านก็จะได้ finalize case ของเราได้เร็วขึ้นตาม common sense จริงไหมคะ

วีซ่าลูก

ช่วงนี้ จะมีลูกค้าหลายๆท่านสอบถามเข้ามาถึงการทำวีซ่าพาลูกมาอยู่ที่ออสเตรเลียอย่างถาวร หรือที่เราเรียกกันว่า “Child Visa” ในวันนี้คุณหมอวีซ่าก็เลยขอเขียนมาแถลงแก่ข้อสงสัยสำหรับทุกท่านกันค่ะ

โดยทั่วไป คุณพ่อคุณแม่ทั้งหลายที่ได้เป็นพีอาร์ หรือซิติเซ่นที่ออสเตรเลียแล้ว ก็มีความคิดอยากจะพาลูกๆมาอยู่ด้วยกันที่ออสเตรเลีย ไม่ว่าจะเป็นลูกแท้ๆ หรือลูกเลี้ยง หรือลูกที่เราอุปการะมา จะทิ้งเด็กไว้คนเดียวกับญาติที่เมืองไทยก็ไม่เหมือนกับนำมาเลี้ยงดูที่นี่ ถ้าหากได้มาอยู่ที่นี่ นอกจากจะได้เรียนฟรีแล้ว ยังได้สิทธิเมดิแคร์ สิทธิขึ้นรถฟรีไปโรงเรียน แถมได้เป็นนักเรียนนอกเรียนเป็นภาษาอังกฤษดียิ่งกว่าไปโรงเรียนอินเตอร์ที่บ้านเราที่แพงหูฉี่อีก คุ้มแสนจะคุ้ม จึงทำให้คุณพ่อคุณแม่อยากจะพาลูกๆมาอยู่ที่นี่กัน เกิดวันหน้ากลับไปไทย ก็มีความรู้คล่องแคล่วทั้งสองภาษา ยิ่งเมื่อในอีก 2 ปีข้างหน้าที่ประเทศไทยจะเข้าร่วมเป็นหนึ่งใน AEC มีการเปิดตลาดอาเซี่ยน ภาษาอังกฤษจึงนับว่าเป็นสิ่งสำคัญที่สุดที่ลูกพึงจะมีไว้ซึ่งทักษะอันนี้เพื่อเปิดทางให้กับอนาคตของตน แถมเรียนจบมัธยมลูกก็สามารถเข้ามหาวิทยาลัยเรียนฟรีได้ภายใต้ HECS (Higher Education Contribution Scheme) หรือโครงการให้นักศึกษากู้ยืมเงินหลวงมาเรียนก่อน (โดยต้องเป็นซิติเซ่นหรือ PR ของออสเตรเลียก่อนนะคะ) คล้ายๆทุนกู้ยืมเงิน กยศ. อะไรทำนองนั้น แล้วก็ค่อยๆผ่อนจ่ายไปหลังเรียนจบหลังสามารถหารายได้ระดับสูงพอที่จะจ่ายคืยให้รัฐฯได้ มหาวิทยาลัยในออสเตรเลียเองก็ได้รับมาตรฐานระดับโลก แถมมีชื่อเสียงติด 1 ใน 100 ของอันดับมหาวิทยาลัยโลก ตามที่คุณหมอวีซ่าเคยเขียนไว้ในฉบับก่อนๆ แต่ในฐานะที่เป็นผู้เชี่ยวชาญในสายทำวีซ่า คุณหมอวีซ่ามักจะได้รับคำถามมาบ่อยเลยทีเดียวที่เป็นกรณีที่พ่อหรือแม่ไม่ได้ลงชื่อลูกไว้ตอนทำวีซ่าของตัวเอง โดยได้รับคำแนะนำจากเอเย่นซี่มาอย่างผิดๆว่าถ้าเราไป declare ลงชื่อลูกจะทำให้วีซ่าของตนเองไม่ผ่าน หรือไม่ก็เป็นเพราะไม่อยากให้แฟนฝรั่งรู้ว่าเรามีลูกแล้ว อันนี้เป็นคำแนะนำที่ผิดมากๆ เท่ากับเป็นการทำลายอนาคตของทั้งเราทั้งลูกแท้ๆ อย่าลืมว่านับตั้งแต่รัฐบาลออสเตรเลียออกกฎหมายใหม่และกำหนดบทลงโทษสำหรับผู้ที่ให้ข้อมูลเท็จและ/หรือใช้เอกสารปลอมแปลงที่เรียกว่า Public Interest Criteria 4020 มาตั้งแต่ปี 2011 บทลงโทษแรงถึงขนาดทำโทษลงทัณฑ์ไม่ให้วีซ่ารวมไปถึงสมาชิกในตรอบครัวของผู้ยื่นถึง 3 ปี ดังนี้

4020

(1) There is no evidence before the Minister that the applicant has given, or caused to be given, to the Minister, an officer, the Migration Review Tribunal, a relevant assessing authority or a Medical Officer of the Commonwealth, a bogus document or information that is false or misleading in a material particularin relation to:
(a) the application for the visa; or
(b) a visa that the applicant held in the period of 12 months before the application was made.
(2) The Minister is satisfied that during the period:
(a) starting 3 years before the application was made; and
(b) ending when the Minister makes a decision to grant or refuse the application;
the applicant and each member of a family unit of the applicant has not been refused a visa because of a failure to satisfy the criteria in subclause (1).
(3) To avoid doubt, subclauses (1) and (2) apply whether or not the Minister became aware of the bogus document or information that is false or misleading in a material particular because of information given by the applicant.
(4) The Minister may waive the requirements of any or all of paragraphs (1)(a) or (b) and subclause (2) if satisfied that:
(a) compelling circumstances that affect the interests of Australia; or
(b) compassionate or compelling circumstances that affect the interests of an Australian citizen, an Australian permanent resident or an eligible New Zealand citizen;
justify the granting of the visa.
(5) In this clause:
information that is false or misleading in a material particular means information that is:
(a) false or misleading at the time it is given; and
(b) relevant to any of the criteria the Minister may consider when making a decision on an application, whether or not the decision is made because of that information.

คุณหมอวีซ่าเคยมีกรณีผู้เยาว์ที่โดนยกเลิกวีซ่าเพราะพ่อแม่ใช้เอกสารปลอมในการได้มาซึ่งวีซ่า เลยโดนรวบเพิกถอนวีซ่าไปพร้อมพ่อแม่ ต้องโดนส่งกลับ แต่คุณหมอวีซ่าก็ได้มีโอกาสช่วยเขียนข้อแก้ต่างให้กับผู้เยาว์คนนี้จนได้วีซ่าคืนมา เพราะน้องเองก็ยังเรียนหนังสือกึ่งๆกลางๆใกล้จบเต็มทน โดนส่งกลับก็น่าเสียดาย จึงขอเตือนว่า PIC 4020 ข้อนี้ ไม่ใช่เป็นเรื่องสนุกที่เบาบาง แก้กันยากมากนะคะ ทางที่ดีอย่าไปหลอกเขาเลย ทำอะไรตรงไปตรงมา ได้วีซ่าของแท้มา ใครก็มาเอาคืนจากเราไปไม่ได้ จริงไหมคะ

เมื่อสองวันก่อนก็มีแม่คนหนึ่งมาขอให้ช่วยหาวิธี เพราะตนเองได้วีซ่านักเรียนโดยทำตามคำแนะนำของเอเย่นเจ้าหนึ่งที่เมืองไทยว่าไม่ควรใส่ชื่อลูก เพราะวีซ่าจะไม่ผ่าน ตอนนี้แม่อยากได้ลูกไปเรียนไปอยู่ด้วย ปรากฎว่าโดนปฏิเสธวีซ่าซ้ำแล้วซ้ำเล่า จนในที่สุด เลยใช้อุบายขอวีซ่าให้ลูกไปเรียนโดยแม่จะไปเป็นผู้ติดตาม ปรากฏว่าลูกได้วีซ่า ทำอย่างไร สถานทูตฯก็ไม่ยอมออกวีซ่าให้แม่ เพราะถือว่าโกหกให้ข้อมูลเท็จมาก่อน สถานทูตฯให้ทางเลือกมาสองทาง คือลูกไปได้แต่ไม่ให้แม่ไป หรือถอนเรื่องซะไม่ต้องไปทั้งสองแม่ลูก กลุ้มไม๊ละคะ

คราวนี้ก็มาเข้าเรื่องวีซ่าลูกทั่วไปกันนะคะ

Child Visa (Subclass 101)/ Child Visa (Subclass 802)

ข้อแตกต่างระหว่างวีซ่า 2 ประเภทนี้ก็คือประเภท sc101 นั้นจะต้องยื่นมาจากไทย แต่ sc802 นั้นยื่นภายในออสเตรเลียค่ะ วีซ่านี้เป็นวีซ่าพีอาร์ถาวรที่อนุญาตให้คุณพ่อคุณแม่พาลูกๆมาอยู่ที่ออสเตรเลียได้อย่างถาวร โดยที่คุณพ่อคุณแม่ หรือผู้ปกครองนั้นจะต้องเป็นประชากรออสเตรเลีย หรือเป็นพีอาร์ หรือจะเป็น eligible New Zealand citizen ก็ได้ โดยที่ลูกๆ ในฐานะผู้สมัครจะต้องมีอายุต่ำกว่า 25 ปีนะคะ โดยเฉพาะสำหรับเด็กๆที่อายุต่ำกว่า 18 ปีก็จะทำเรื่องง่ายขึ้นมาก แต่ถ้าหากอายุเกิน 18 ปี ก็จะต้องแสดงหลักฐานว่ายังอาศัยคุณพ่อคุณแม่เลี้ยงดูอยู่ เช่นยังเรียนหนังสืออยู่ และจะต้องยังไม่แต่งงานด้วย แน่นอนว่าการขอวีซ่าสำหรับลูกๆที่อายุเกิน 18 ปี จำเป็นจะต้องมีการโชว์เอกสารมากกว่ากรณีที่ลูกอายุต่ำกว่า 18 ปี แต่ก็ไม่ได้ยากจนเกินไปนะคะ เพราะถ้าหากมีเอกสารพร้อมทั้งฝ่ายผู้สมัคร และสปอนเซอร์ โอกาสที่วีซ่าจะผ่านก็มีสูงค่ะ

ก่อนอื่นเรามาดูกันที่คุณสมบัติของผู้สมัคร หรือลูกๆทั้งหลายกันค่ะ ตัวลูกนั้นจะต้องเป็นลูกหรือ ลูกเลี้ยงของสปอนเซอร์ก็ได้ ซึ่งสปอนเซอร์นั้นก็จะต้องเป็นพีอาร์ หรือเป็นซิติเซ่นที่นี่ หรือสำหรับลูกบุญธรรมนั้น ก็ต้องรับเป็นบุตรบุญธรรมก่อนที่จะเป็นซิติเซ่นหรือพีอาร์ เพราะถ้าหากรับเป็นบุตรบุญธรรมหลังจากที่ได้พีอาร์หรือซิติเซ่น จะต้องสมัครวีซ่าอีกประเภท Adoption Visa (sc102) แทนค่ะ

สำหรับบุตรนั้นจะต้องมีอายุต่ำกว่า 25 ปี ในกรณีที่บุตรอายุน้อยกว่า 18 ปี ถือว่าเป็นผู้ติดตามของคุณพ่อคุณแม่ที่ต้องได้รับการเลี้ยงดู แต่ถ้าหากอายุเกิน 18 ปี ก็ต้องเรียนเต็มเวลา ไม่เคยทำงาน และไม่เคยแต่งงาน ซึ่งสำคัญมากนะคะ หากไม่สามารถพิสูจน์ได้ว่าลูกที่อายุเกิน 18 นั้นไม่ได้เรียน หรือแอบไปลาออก หรือทำงาน ทางอิมมิเกรชั่นมีสิทธิ์ปฏิเสธที่จะไม่ให้วีซ่าได้ค่ะ สิ่งสำคัญที่สุดในการสมัครวีซ่าประเภทนี้ได้ก็คือสิทธิในการปกครองบุตรค่ะ ในกรณีคุณพ่อคุณแม่บางคนที่อาจจะแยกกันอยู่ หรือหย่ากันแล้ว เอกสารที่จำเป็นมากในการสมัครวีซ่าก็เอกสารในการมอบอำนาจในการปกครองบุตรให้กับสปอนเซอร์แต่เพียงผู้เดียว หรือถ้าหากอำนาจในการปกครองบุตรอยู่กับพ่อแม่ทั้งสองฝ่าย ทางลูกเองนั้นก็ต้องมีจดหมายอนุญาตให้เดินทางออกนอกประเทศได้ค่ะ เอกสารชิ้นนี้สำคัญมากนะคะ ถ้าหากไม่มีเอกสารชิ้นนี้แล้วโอกาสในการได้วีซ่าก็เรียกว่าเป็นศูนย์เลยล่ะค่ะ จริงๆจะว่าไปแล้วการยื่นวีซ่าบุตรนั้นก็ไม่ได้ยากจนเกินไปนะคะ ขอเพียงแค่แสดงเอกสารถึงความสัมพันธ์ระหว่างตัวผู้สมัคร และตัวสปอนเซอร์ว่าเป็นพ่อแม่-ลูกกันจริงๆ ซึ่งโดยปกติแล้วทางอิมมิเกรชันก็มักจะเห็นใจออกวีซ่าให้ค่ะ

วีซ่าอีกประเภทหนึ่งที่เกี่ยวข้องกับลูกๆที่คุณหมอวีซ่าขอนำมากล่าวถึงในวันนี้ด้วยก็คือ Dependent Child Visa (Subclass 445) หรือวีซ่าสำหรับบุตรที่ติดตามพ่อแม่ที่ยื่นวีซ่าคู่ครองมาค่ะ ภายหลังจากที่คุณพ่อหรือคุณแม่นั้นถือวีซ่าคู่ครองแบบชั่วคราว ได้แก่

  • temporary Partner visa (subclasses 309 or 820)
  • temporary Spouse visa (subclasses 309 or 820)
  • temporary Interdependency visa (subclasses 310 or 826)

โดยที่สปอนเซอร์ของวีซ่าตัวนี้ก็คือคู่ครองของคุณพ่อ-คุณแม่ที่เป็นซิติเซ่น หรือพีอาร์ค่ะ ซึ่งวีซ่าประเภทนี้ก็เป็นวีซ่าพีอาร์เช่นเดียวกับวีซ่าบุตรข้างต้นค่ะ เพียงแต่เป็นวีซ่าบุตรสำหรับคุณพ่อ-คุณแม่ที่กำลังถือวีซ่าคู่ครองชั่วคราวอยู่ ถ้าหากพีอาร์ของผู้ปกครองผ่านเมื่อไร ลูกเองนั้นก็จะได้รับพีอาร์ตามผู้ปกครองไปเลยค่ะ

คุณสมบัติของวีซ่าตัวนี้ก็เช่นเดียวกับวีซ่าบุตรข้างต้น ผู้สมัครจะต้องมีอายุต่ำกว่า 25 ปี แต่ถ้าหากเกิน 18 ปี จะต้องแสดงหลักฐานความสัมพันธ์ว่าบุตรนั้นยังพึ่งพาคุณพ่อ-คุณแม่อยู่ ไม่ว่าจะเป็นการเงิน ที่พักอาศัย และอื่นๆ โดยสปอนเซอร์จะต้องสนับสนุนทางด้านการเงินไปตลอด 2 ปี ในออสเตรเลีย และจะต้องมีใบมอบอำนาจในการปกครองบุตร หรือใบอนุญาตให้เดินมาต่างประเทศจากหน่วยงานราชการไทยด้วยค่ะ

จะว่าไปแล้ววีซ่าบุตรทั้งสองประเภทนี้ก็มีคุณสมบัติไม่ว่าจะเป็นของผู้สมัคร หรือสปอนเซอร์ที่คล้ายๆกันนะคะ ขอเพียงแค่ทั้งตัวผู้สมัครและสปอนเซอร์สามารถพิสูจน์หรือหาเอกสารมาตามที่อิมมิเกรชั่นกำหนด และผ่านการตรวจสุขภาพ และไม่ติดประวัติใดๆทั้งสิ้นก็มีโอกาสได้วีซ่าตัวนี้มาค่ะ อ้อ… ลืมบอกไปอีกอย่างนะคะ สำหรับในกรณีที่บุตรนั้นอายุต่ำกว่า 18 ปี สปอนเซอร์นั้นจะต้องมีการแสดงผลสอบประวัติจากประเทศต่างๆที่ไปอาศัยอยู่เกิน 12 เดือน รัฐบาลออสเตรเลียให้ความสำคัญกับเด็กและเยาวชนมาก ดังนั้นเพื่อการปกป้องเด็กและเยาวชน รัฐบาลออสเตรเลียจึงจำเป็นต้องมีการตรวจสอบประวัติ อย่างเช่นหากค้นพบว่าสปอนเซอร์นั้นเคยมีคดีลักพาตัวเด็ก กระทำชำเราเด็ก หรือเคยต้องคดีอาญาทางอินเตอร์เนต ครั้นอิมมิเกรชั่นจะแกรนท์วีซ่าให้เด็กมาอยู่ด้วย ก็ไม่สามารถรับรองความปลอดภัยให้ตัวเด็กได้อะไรทำนองนั้น เป็นต้น

อันนี้เป็นเพียงข้อมูลคร่าวๆของวีซ่าบุตรทั้งสองประเภทนะคะ หากผู้อ่านท่านใดอยากทราบข้อมูลเพิ่มเติมสามารถอ่านได้ที่ https://www.immi.gov.au/migrants/family/child/445/

และ https://www.immi.gov.au/migrants/family/child/101/ นะคะ หรือถ้าหากต้องการสอบถามข้อมูลเพิ่มเติม ก็สามารถโทรเข้ามาถามที่ซีพีฯได้ทุกสาขาเลยค่ะ หลายๆคนเลือกที่จะให้เด็กๆถือวีซ่าท่องเที่ยว หรือถือวีซ่านักเรียนไปเรื่อยๆ เมื่อเทียบค่าใช้จ่ายกันแล้ว การสมัครวีซ่าสำหรับบุตรดูจะคุ้มกว่ากันมากในระยะยาว เพราะเท่ากับว่าได้พีอาร์เลย สำหรับลูกของเรา เราก็อยากจะเลือกสิ่งที่ดีที่สุดให้ใช่มั้ยคะ สำหรับวันนี้ คุณหมอวีซ่าขอลาไปด้วยคำเขียนซึ้งใจที่ลูกสาวเขียนมาให้พร้อมของขวัญเป็นหนังสือเล่มเล็กที่ชื่อว่า “all about my MOTHER by Cheryl Saban PhD” เป็นของขวัญวันแม่ Mother’s Day ที่เพิ่งผ่านไปหยกๆเมื่อกลางเดือน May 2013 ที่ผ่านมา:

“Dear Mum,

Happy Mother’s Day (รูปหัวใจ)..Through your words, your actions, your bravery, your love…you have taught me to be grateful for the things in my life. But please know, the thing I am most grateful for is having you as my mother…I love you! XOXO, from your daughter..”

กับอีกบทสั้นๆ ในหนังสือ:

“My mum is my best friend. She’s the one support system that has never failed. She is there for me no matter what, at any time. She is my hero.”

ดีใจวันที่หยุดสุดสัปดาห์นี้คุณหมอวีซ่าจะได้ไปทานข้าว spend time กับลูกชาย จะมีความรักใดในโลกที่จะเทียบเท่ากับความรักอย่างไม่ติดเงื่อนไขใดๆจากพ่อแม่ที่ฝรั่งเรียกว่า “unconditional love” ที่พ่อแม่ให้กับลูกได้ – เป็นความรักที่ยิ่งใหญ่กว่ามหาสมุทรสิ่งใดๆในโลก ดังนั้นลูกๆทั้งหลาย ก็ขอให้รักและกตัญญูต่อพ่อแม่ให้มากๆกันนะคะ

แล้วพบกันใหม่ฉบับหน้าค่ะ

ด้วยความปรารถนาดี

จากคุณหมอวีซ่า

มีคำถามเกี่ยวกับการสมัครหรือสถานะวีซ่าออสเตรเลียของคุณ? ต้องการสมัครเพื่อศึกษาต่อ ทำงาน หรืออาศัยอยู่ในออสเตรเลีย? สามารถขอคำแนะนำจากทีมคุณหมอวีซ่าได้ที่: