29 February 2016

สวัสดีค่ะ ท่านผู้อ่านที่รักทุกท่าน กลับมาพบกับคุณหมอวีซ่ากันอีกครั้งนะคะ ปีนี้ดวงดีจัง โดยเฉพาะช่วงนี้วีซ่าตัวยากๆ ทั้งหลายที่คุณหมอวีซ่าคิดว่าไม่น่าจะผ่านกันง่ายๆก็ได้พากันผ่านเป็นแถวๆ สงสัยเจ้าหน้าที่อิมฯ จะใจดีผ่อนผันนโยบายในช่วงนี้เป็นพิเศษหรือไงก็ไม่ทราบนะคะ อยากนำเคสทีเพิ่งผ่านสดๆร้อนๆมาเล่าสู่กันฟัง จะได้เป็นกำลังใจให้กับท่านผู้อ่านหลายท่านที่ติดปัญหาคั่งค้างเรื่องวีซ่าที่ทำคารังคาซังอยู่นะคะ ว่าอย่าเพิ่งหมดหวัง อาจมีแสงสว่างรออยู่ข้างหน้าค่ะ

คุณแอน (เรื่องจริง แต่นามสมมุติ) ได้ยื่นวีซ่าคู่ครอง (Partner Visa) กับแฟนที่เป็นชาวออสซี่ไปตั้งแต่ปี คศ. 2013 โดยตอนที่ยื่นฟอร์มนั้น คุณแอนไม่ได้ถือวีซ่าใดๆ แต่ไม่ได้หมายความว่าคุณแอนอยู่อย่างผิดกฎหมายนะคะ ก่อนหน้านั้นคุณแอนได้สมัครวีซ่าทักษะ (sc885) ไป เพราะเรียนจบมาทางด้านสายอาชีพที่สามารถทำ PR ได้ ถึงจะมีแฟนถือสัญชาติออสเตรเลีย แต่ด้วยทิฐิสูง คุณแอนก็กะว่าจะสมัครพีอาร์โดยไม่พึงแฟน แต่อยากอาศัยความสามารถของตนเองในการขอวีซ่า ณ ตอนที่สมัครนั้นคุณแอนได้ถือวีซ่า Temporary Graduate (sc485) แต่ปรากฎว่าวีซ่าทักษะโดนปฏิเสธ เพราะผลภาษาอังกฤษของคุณแอนไม่ได้ตามที่กฎหมายกำหนด ในตอนนั้นใครๆ ก็รู้กันอยู่แล้วนะคะว่าวีซ่าพีอาร์แบบทักษะ (sc885) นั้น หากสมัครด้วยสายอาชีพที่ไม่ได้เป็นที่ต้องการเร่งด่วนของประเทศออสเตเลีย ก็อาจต้องรอคิวยาวถึง 4 – 5 ปีเลยทีเดียวกว่าวีซ่าจะผ่าน ซึ่งในกรณีของคุณแอนนั้น กว่าที่วีซ่าหล่อนจะโดนปฏิเสธออกมา คุณแอนตอนนั้นก็ถือ Bridging Visa A อยู่ พอทราบข่าว แฟนคุณแอนก็เลยเสนอว่ายื่นวีซ่า partner กันเถอะ เพราะแฟนคุณแอนเองก็ไม่อยากให้คุณแอนต้องกลับไปทำเรื่องที่เมืองไทย คุณแอนก็เลยยื่นวีซ่า partner ภายใต้การสปอนเซอร์ของแฟนที่เป็นคนที่นี่ ยื่นวีซ่าภายใน 28 วัน ที่วีซ่าหล่อนโดนปฏิเสธเมื่อวันที่ 6 สิงหาคม 2013 และได้ยื่นวีซ่า partner เมื่อวันที่ 27 สิงหาคม 2013 ก็ถือว่าอยู่ภายใน 28 วัน ระยะปลอดภัย อย่างไรก็ตามเมื่อยื่นวีซ่าในขณะที่วีซ่าหมดอายุไปแล้วนั้น (เช่นวีซ่านักเรียน หรือวีซ่าท่องเที่ยว) อธิบายนิดนึงว่าตามปกติผู้สมัครที่ต่อวีซ่าในระหว่างที่ยังถือวีซ่าหลักตัวใดตัวหนึ่งอยู่ ก็จะได้วีซ่า Bridging A แต่ถ้าหากยื่นเรื่องตอนไม่มีวีซ่าหลัก Bridging A ก็จะกลายเป็น Bridging Visa C แทน สำหรับข้อแตกต่างระหว่าง Bridging Visas ทั้งหลาย พอดีคุณหมอวีซ่างานยุ่งช่วงนี้ ไว้มีเวลาจะมาอธิบายให้ฟังโดยละเอียด เอาเป็นว่า Bridging Visa จะออกให้ก็ต่อเมื่อผู้สมัครทั้งหลายได้สมัครวีซ่าเข้าอิมฯไปแล้ว และกำลังรอผลของวีซ่าอยู่ค่ะ ทั้งนี้รวมถึงผู้ที่กำลังยื่นเรื่องอุทธรณ์ที่ Administrative Appeals Tribunal (AAT) หรือที่ Federal Court ด้วยเช่นกันค่ะ

กลับมาที่เรื่องของคุณแอนกันต่อค่ะ คุณแอนได้ยื่นวีซ่า partner ไปตั้งแต่เดือนสิงหาคม 2013 และก็รอไปเรื่อยๆ จนกระทั่งปี 2015 ถึงได้รับข่าวคราวจากทางอิมมิเกรชั่นให้เขียนเหตุผลอธิบายว่าทำไมถึงควรจะออกวีซ่าให้คุณแอน เนื่องจากคุณแอนยื่นวีซ่า partner ในตอนที่ถือ Bridging Visa C ซึ่งถือว่ายื่นในตอนที่ไม่มีวีซ่า substantive อยู่ โดยตามกฎหมายแล้ว ในบัญญัติที่เกี่ยวข้องคือ Schedule 3 ที่บังคับให้ทุกคนที่ยื่นวีซ่าต่อที่ออสเตรเลีย จะต้องถือวีซ่าหลัก หรือที่เรียกว่า Substantive Visa ตัวใดตัวหนึ่งอยู่ ซึ่ง Bridging Visa ทั้งหลายไม่ถือว่าเป็นวีซ่าหลัก กฎก็คือ หากผู้ใดประสงค์จะยื่นวีซ่าต่อในออสเตรเลียในขณะที่ไม่มีวีซ่าหลัก หรืออยู่เป็นผีไม่มีวีซ่าแล้ว ก็ต้องไปขอให้อิมมิเกรชั่นเพิกถอน Schedule 3 นี้ให้เสียก่อนโดยต้องมีเหตุผลจำเป็นที่น่าสงสารหรือน่าเห็นใจที่เกิดจากปัจจัยที่อยู่นอกเหนือการควบคุมของตัวเองอย่างแท้จริง ในกรณีของคุณแอน ทางอิมมิเกรชั่นก็ขอให้เขียนเหตุผลอธิบายว่าทำไมหล่อนถึงควรได้รับการยกเว้น ให้อิมฯเพิกถอน Schedule 3 ให้ ตามภาษากฎหมายที่เรียกว่า Seek Schedule 3 Waiver โดยส่วนใหญ่แล้วการจะขอ Waive ได้ก็จะต้องเขียนเหตุผลที่น่าเชื่อถือตามที่เกริ่นไว้ข้างต้นพอสมควร เช่น มีลูกกับคนที่เป็นซิติเซ่นที่นี่ สปอนเซอร์ประสบอุบัติเหตุหรือป่วยหนักต้องได้รับการดูแลเป็นต้น หรือในอีกกรณีก็ต้องพิสูจน์ว่าผู้สมัครนั้นไม่เคยทำผิดกฎหมาย และได้พยายามต่อวีซ่ามาโดยตลอด ในกรณีของคุณแอนเองนั้น ไม่เคยทำผิดกฎวีซ่าและไม่เคยปล่อยให้ตัวเองไม่มีวีซ่า หลังจากที่วีซ่าโดนปฏิเสธก็ได้พยายามที่จะยื่นวีซ่าภายใน 28 วัน ตามที่กฎหมายกำหนด นอกจากนี้ความสัมพันธ์ของคุณแอนและแฟนนั้นก็อยู่ด้วยกันมากกว่า 7 ปีแล้ว คุณหมอวีซ่าก็เลยช่วยเขียน submission และขอให้ทางอิมมิเกรชั่นช่วยพิจารณาให้พีอาร์กับคุณแอนโดยตรงโดยไม่ต้องรออีกสองปี

และในที่สุดคุณแอนก็ได้พีอาร์หลังจากรอมานานพอควร แต่ก็คุ้มนะคะ ถือว่าเป็นของขวัญที่ดีที่สุดสำหรับคุณแอนและแฟนหลังจากที่ไม่ได้กลับไทยมาเป็นเวลาหลายปี คุณหมอวีซ่าเลยขออนุญาตเอาจดหมายผ่านวีซ่ามาให้ท่านผู้อ่านดูเป็นตัวอย่างตามข้างล่างนี้ เพื่อให้กำลังใจท่านผู้อ่านว่่า อย่าท้อแท้ ทุกอย่างมีทางแก้ค่ะ

เคสนี้ถือเป็นเคสตัวอย่างเลยก็ว่าได้นะคะ อย่างไรก็ตามไม่ได้หมายความว่าทุกคนที่ยื่นวีซ่า partner ตอนไม่ถือ substantive visa แล้วจะผ่านกันได้ทุกคนนะคะ เพราะสุดท้ายแล้วก็ขึ้นอยู่กับเจ้าหน้าที่อิมมิเกรชั่นว่าจะเชื่อในเหตุผลที่เราเขียนไปอธิบายหรือไม่ เรื่องอย่างนี้ไม่ควรเสี่ยงทำเองนะคะ ควรเลือกปรึกษากับไมเกรชั่น เอเจนท์ที่ขึ้นทะเบียนกับทาง MARA เพราะแต่ละเคสก็มีข้อแก้ต่างแตกต่างกันไป สำหรับใครต้องการความแน่นอน ก็สามารถที่จะโทรเข้ามาปรึกษากับคุณหมอวีซ่าได้ที่ 02-9267 8522 ตอนนี้คุณหมอวีซ่ากลับถึงซิดนีย์แล้วค่ะ ไว้ฉบับหน้าจะมาเล่าเรื่องที่เพิ่งพาลูกค้าไปอุทธรณ์ที่ตุลาการมา มันมากกับข้อโต้แย้ง ไว้เมาท์ต่อนะคะ สำหรับวันนี้ขอลาไปก่อนค่ะ


น้อง Patrick ลูกค้าVIP รุ่นจิ๋วแสนน่ารัก นำน้ำผึ้ง organic มาฝากคุณยายคุณหมอวีซ่า
น้อง Patrick ลูกค้าVIP รุ่นจิ๋วแสนน่ารัก นำน้ำผึ้ง organic มาฝากคุณยายคุณหมอวีซ่า
แซยิก คุณต๊อบ ฉลองกันที่ CP Sydney, Happy Birthday ค่ะ ขอให้มีความสุขสมหวังนะคะ
แซยิก คุณต๊อบ ฉลองกันที่ CP Sydney, Happy Birthday ค่ะ ขอให้มีความสุขสมหวังนะคะ
มีคำถามเกี่ยวกับการสมัครหรือสถานะวีซ่าออสเตรเลียของคุณ? ต้องการสมัครเพื่อศึกษาต่อ ทำงาน หรืออาศัยอยู่ในออสเตรเลีย? สามารถขอคำแนะนำจากทีมคุณหมอวีซ่าได้ที่: