11 March 2011

คุณหมอวีซ่าฉบับนี้ เป็นตอนที่ 2 ต่อจาก Thai Press ฉบับที่แล้วที่ คุณหมอวีซ่าได้เกริ่นไว้ว่าจะอธิบาย

และขยายความถึง 2 ขบวนสำคัญการของการยกเลิกวีซ่านักเรียน พร้อมยกตัวอย่าง Case Study แปลกๆที่น่าสนใจให้อ่านกัน เพื่อน้องๆจะได้เรียนรู้ไว้ปกป้องผลประโยชน์ของตนเองนะคะ

กฎหมายข้อที่เกี่ยวข้องกับเรื่องของการยกเลิกวีซ่านักเรียน ก็เห็นจะหนีไม่พ้น ESOS Act 2000 หรือ Education Services for Overseas Student ควบๆไปกับ National Code of Practice 2007 ตามที่คุณหมอวีซ่าได้อธิบายรายละเอียดไปอย่างคร่าวๆตั้งแต่ฉบับที่แล้ว และมาตรการ ที่เกี่ยวข้องกับการแจ้งยกเลิกใบลงทะเบียน หรือ COE (Confirmation of Enrolment) ของทางสถาบันมัก

จะเกี่ยวพันอยู่กับมาตรา 19 ของ ESOS Act กับ National Code 2007 สองมาตรการใหญ่ๆคือ:

– มาตรการที่ 10 : การควบคุมผลคืบหน้าทางการเรียน (satisfactory coure progress) กับ

– มาตรการที่ 11 : การควบคุมเวลาเข้าเรียน (satisfactory course attendance)

เนื่องจากสองข้อนี้จะเกี่ยวข้องโดยตรงกับการที่นักเรียนจะโดนโรงเรียนออกใบเพิกถอนการลงทะเบียนที่เรียกว่า Non-Compliance Notification or NCN letter หรืออีกชื่อหนึ่งก็คือ Notice 20 letter และนำไปสู่เรื่องร้ายแรงที่ตามมาก็คือการโดนยกเลิกวีซ่านักเรียน หากพบว่ามีการละเมิดข้อกำหนดที่ระบุไว้ในเงื่อนไข 8202 ของการออกวีซ่านักเรียนตามกฎหมายเข้าเมืองของออสเตรเลีย (Migration Regulations 1994) จริง ตามที่สถาบันได้แจ้งเข้าอิมฯไป นักเรียนก็จะโดนยกเลิกวีซ่านักเรียน และถ้าไม่อยู่สู้คดีในระดับอนุญาติโดยตุลาการ (Migration Review Tribunal หรือ MRT) นักเรียนก็จะโดนส่งกลับทั้งๆที่ยังเรียนไม่จบ และที่เจ็บยิ่งกว่านั้นก็คือ การโดนยกเลิกวีซ่าแล้วกลับบ้านในลักษณะแบบนี้ จะส่งผลให้น้องๆ โดนลงฑัณฑ์บน 3 ปี ไม่มีสิทธิขอวีซ่าชั่วคราวใดๆกลับเข้าออสเตรเลียอีกภายใน 3 ปีนั้น ยกเว้นจะมีเหตุผลจำเป็นที่อ้างอิง

ได้ภายใต้ข้อกำหนดที่เรียกว่า compelling reasons นั่นเอง ซึ่งในการพิสูจน์กรณีนักเรียนที่อยากจะ

ขอกลับเข้าออสเตรเลียภายใน 3 ปีดังกล่าว ก็ต้องพิสูจน์ให้ได้ว่า เหตุต่างๆที่เกิดขึ้นที่ทำให้เราสอบไม่ผ่าน หรือไม่ไปโรงเรียนนั้น เกิดจากเหตุผลที่นอกเหนือการควบคุมของเราในทำนองสุดวิสัยจริงๆอะไรทำนองนั้น จึงอาจมีโอกาสชนะการโต้แย้งและได้รับความเห็นใจจากทางสถานทูตฯเพื่อออกวีซ่าใหม่ให้กลับมาเรียนต่อได้ อันนี้คุณหมอวีซ่าบอกได้เลยว่าทำไม่ง่ายเลย กว่าจะสู้คดีสำเร็จให้น้องๆกลับมาเรียนต่อได้ในแต่ละราย เล่นเอาซะเลือดตาแทบกระเด็นว่ากันตามภาษาชาวบ้านนะคะ ยิ่งช่วงนี้ วีซ่านักเรียนเคี่ยวสุดๆ ขนาดเคสที่ไม่มีปัญหา คิดว่าผ่านแน่ๆ ก็ยังอาจตกสัมภาษณ์เลย ความแน่นอนของการขอวีซ่านักเรียน

เข้าออสเตรเลียในยุคปัจจุบันนี้ ได้กลายเป็นเรื่องที่ไม่มีความแน่นอนอีกต่อไปแล้ว คุณหมอวีซ่าก็คิดว่า คงต้องรอให้เปลี่ยนรัฐบาลชุดใหม่ หรือรัฐบาลชุดนี้เปลี่ยนนโยบายซะก่อนอะไรทำนองนั้น

เมื่อฉบับที่แล้ว คุณหมอวีซ่าได้ยกเอาตัวอย่างของ NCN Letter มาตีพิมพ์ให้ท่านผู้อ่านดูเป็นตัวอย่าง อยากจะอธิบายคร่าวๆในที่นี้ให้ท่านผู้อ่านฟังว่าจดหมายฉบับนี้มีความสำคัญมาก เพราะมีผลบังคับใช้ทางกฎหมาย และหากได้รับการละเลย หรือเดินไม่ถูกทาง ก็อาจทำให้วีซ่านักเรียนของเราโดนเพิกถอนไปได้อย่างน่าเสียดาย ดังนั้นทันทีที่ได้รับจดหมาย NCN letter นักเรียนจะมี 2 ทางเลือกคือ :

1. ให้เข้าไปรายงานตัวกับอิมมิเกรชั่นแผนก Compliance ภายใน 28 วัน โดยหลังรายงานตัว อิมฯจะให้เวลาทำจดหมายหรือ statement อธิบายเหตุผลว่า ทำไมเราจึงไปทำผิดเงื่อนไขวีซ่า

นักเรียนภายใน 5 วัน (ซึ่ง 5 วันนี้อาจจะขอยืดเวลาต่อไปได้อีกเพียง 5 วันเท่านั้น) ถ้านักเรียนทำเหตุผลเข้าไปดี และมีเอกสารประกอบครบถ้วน ก็อาจหลุดและได้วีซ่านักเรียนคืนมา

ตามเดิม แต่ถ้าอิมฯไม่เห็นด้วยกับคำอธิบายของเรา เขาก็จะอาศัยมาตรา 116 ออกจดหมายยกเลิกวีซ่าเราทันทีเช่นกัน

2. ถ้าน้องๆไม่เข้าไปรายงานตัวภายใน 28 วัน วีซ่านักเรียนก็จะโดนยกเลิกโดยอัตโนมัติอยู่ดีหลัง 28 วันพ้นไปตามกระบวนการที่เรียกว่า Automatic Student Visa Cancellation ภายใต้อำนาจตามมาตรา 137J – ในกรณีเช่นนี้ หากวีซ่านักเรียนของน้องๆตัวปัจจุบันยังไม่ขาด ก็อาจมีโอกาสยื่นเหตุผลอธิบายเข้าไปได้อีกโดยอาศัยกระบวนการที่เรียกว่า Revocation of Student Visa Cancellation พูดง่ายๆคือวีซ่าเราได้ถูกยกเลิกไปแล้ว เรากำลังไปขอให้อิมฯเปลี่ยนกลับมาเป็น “ไม่ยกเลิก” นั่นเอง

แล้วจะเลือกเดินทางไหนดี ถึงจะมีโอกาสได้วีซ่าคืนสูงกว่า?

ก่อนจะตอบคำถามนี้ได้ คุณหมอวีซ่ามักต้องขอฟังเหตุผลและพิจารณาเอกสารที่ใช้ประกอบการยื่นคำโต้แย้งที่เขียนเข้าไปให้อิมฯแทนนักเรียนที่เรียกว่า “submission” โดยปกติแล้ว การที่อิมฯจะเห็นด้วยกับการให้หรือไม่ให้วีซ่าคืนมานั้น ทางเจ้าหน้าที่เองก็ต้องนำข้อกฎหมายและนโยบายตาม Migration Act 1958 ที่เรียกว่า Direction under Section 499 เข้าไปพิจารณา โดยมาตรานี้กำหนดให้เจ้าหน้าที่จะต้องนำเรื่องที่เกี่ยวข้องในข้อต่างๆต่อไปนี้เข้าไปพิจารณาร่วมด้วยกัน ก่อนที่จะตัดสินว่าจะยกเลิกวีซ่าของนักเรียนหรือไม่ อาทิ:

  • มีเรื่องสุดวิสัยทางการเมือง หรือภัยธรรมชาติเกิดขึ้นในประเทศของนักเรียนไหม
  • ทางสถาบันการศึกษามีแจ้งมาเป็นลายลักษณ์อักษรว่า มีการผิดพลาดทางเอกสารเกี่ยวกับการแจ้งเด็กประการใดไหม
  • ทางสถาบันการศึกษามีระบบการควบคุมการเข้าเรียนของเด็กอย่างถูกต้อง และได้มีการตักเตือนเด็กเป็นลายลักษณ์อักษร ให้โอกาสเด็กในการตอบโต้ไหม เป็นต้น
  • หากทางเจ้าหน้าที่นำเรื่องราวที่เราเขียนโต้แย้งเข้าไปทั้งหมดมาพิจารณาแล้ว เกิดเห็นด้วยกับเรา เราก็หลุด – แต่ถ้าเกิดไม่เห็นด้วย ก็ไม่หลุด แต่ในหลายกรณี นักเรียนก็อาจมีโอกาสหลุดอย่างง่ายๆ ถ้าตกอยู่ในข่าย

ที่เราสามารถพิสูจน์ได้ว่า จดหมาย NCN letter ที่ทางสถาบันออกให้นั้นมีการผิดพลาดทางเทคนิค

ของกฎหมายบางประการ ตามที่คุณหมอวีซ่าได้เคยเขียนเรื่องเกี่ยวกับกรณีของนาย Uddin ที่เกิดขึ้นเมื่อประมาณเดือนสิงหาคมของปี 2005 ซึ่งส่งผลให้คุณหมอวีซ่าได้ช่วยให้นักเรียนหลายต่อหลายคน

ในรุ่นนั้นที่ได้รับใบ NCN letter ในช่วงวันที่ 1 May 2001 ถึงวันที่ 16 August 2005 ได้รับวีซ่คืนกันเป็นแถวๆ ซึ่งเรื่องในทำนองเดียวกันนี้ ก็เกิดอีกทีกับนาย Hossain ที่ทางศาลพบว่าจดหมาย Notice 20 ที่ทางสถาบันออกมาในรุ่นช่วงวันที่ 1 July 2007 ถึงวันที่ 17 December 2009 นั้นมีความผิดพลาด และให้ถือว่าเป็นโมฆะ เด็กที่โดนยกเลิกวีซ่าในช่วงนั้นจึงอาจมีสิทธิได้รับวีซ่าคืนอันเป็นผลสืบจาก

ผลของการตัดสินของท่านผู้พิพากษา Justice Buchanan แห่ง Federal Court of Australia เมื่อวันที่ 2 March 2010 นั่นเอง แต่สิ่งที่น่าสนใจ ก็คือ ไม่ว่าจะเป็นกรณีของนาย Uddin หรือนาย Hossain ก็ตาม นักเรียนที่จะได้วีซ่าคืน

ในลักษณะแบบนี้ ต้องเป็นเด็กที่ถูกยกเลิกวีซ่าภายใต้มาตรา 137J เท่านั้น กล่าวคือเด็กที่ถูกยกเลิกวีซ่าโดยอัตโนมัติ ไม่ใช่ที่ถูกยกเลิกภายใต้มาตรา 116 นะคะ จะเห็นได้ว่า เรื่องกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการถูกยกเลิกวีซ่านั้น เป็นเรื่องที่สลับซับซ้อน และเรียนรู้กันไม่มีวันจบสิ้น แถมบางครั้ง การที่จะได้หรือไม่ได้วีซ่าคืนมานั้น ก็ขึ้นกับโชคว่าเจอเจ้าหน้าที่เคี่ยวหรือไม่เคี่ยวด้วยอีก แต่เป็นงานท้าทายและสนุกที่คุณหมอวีซ่าชอบทำมาก เพราะทุกครั้งที่ชนะเคสและเด็กได้วีซ่าคืนมา ความรู้สึกปลื้มใจที่เรามีโอกาสชุบอนาคตของเด็กคนหนึ่งให้สดใสมีอนาคตกลับขึ้นมาใหม่ได้อีกทีนั้น มันไม่มีคำใดๆที่จะสามารถบรรยายได้เลยจริงๆ แต่ขอบอกอีกว่าเป็นงานที่เครียดมาก เพราะการเขียน submission แต่ละฉบับแทนเด็ก ก็เล่นเอาคุณหมอวีซ่าไม่ได้หลับไม่ได้นอนไปหลายคืนเหมือนกันค่ะ

อีกเรื่องที่คุณหมอวีซ่าขอชี้แจงก็คือ การพยายามไปเรียกวีซ่าคืนในลัษณะแบบนี้ มีความเสี่ยงทั้งนั้น เพราะหลายๆครั้ง ไม่ได้ว่ากันตามตัวบทกฎหมายที่ตรงเปี๊ยะๆ เนื่องจากการให้หรือไม่ให้วีซ่าคืน ย่อม ขึ้นกับเหตุผลของทางสถาบันและความอำเภอใจของเจ้าหน้าที่อิมฯเป็นหลัก การทำเคสแบบนี้จึงบอกไม่ได้ ว่ามีโอกาสผ่านกี่เปอร์เซ็นต์ ได้แต่ประเมิณตามประสบการณ์ แล้วก็ต้องขึ้นกับได้เจ้าหน้าที่คนไหน เคี่ยวเพียงใด เป็นต้น แต่แน่นอนที่สุด ทำนองเดียวกับผู้ป่วยไปหาแพทย์ หมอก็มีหน้าที่ต้องพยายามใช้ความรู้ความ

สามารถที่เรียนสั่งสมมาหลายปีในการรักษาคนไข้ให้หายให้ดีที่สุด และอย่างสุดความสามารถ แต่ไม่มีการการันตีว่าคนไข้จะหายขาด 100% ทำนองเดียวกันกับ migration agents ทีทำงานในระดับมืออาชีพ ก็ไม่สามารถการันตีวีซ่าจะได้ 100% แต่ต้องใช้ทั้งความสามารถ ประสบการณ์และความรู้ที่เรียนมา

อย่างสุดความสามารถไปช่วยลูกค้าของตนให้ดีที่สุด โดยกฎหมายไม่อนุญาตให้เรารับประกันวีซ่าแต่อย่างใด แต่หากทำงานดี มีผลงานอัตราการผ่านวีซ่าสูง ค่าแรงก็พอเหมาะ คุณหมอวีซ่ารับประกันว่าจะไม่เคยขาดลูกค้าเลยค่ะ ขอให้ทำงานอย่างจริงใจ ขยันหมั่นเพยร

ก่อนจบฉบับนี้ คุณหมอวีซ่าอยากยกเคสตัวอย่างเรื่องจริงมาเล่าให้ฟังถึงกรณีเคสต่างๆ

ที่คุณหมอวีซ่าเคยช่วยให้น้องๆได้วีซ่าคืนมากันหลังจากที่โดนโรงเรียนแจ้งยกเลิกวีซ่าจำนวนนับไม่ถ้วน

แต่ขอเล่าเพียงสามสี่เคสเป็นตัวอย่างสนุกๆ พอหอมปากหอมคอ โดยไม่ออกนามจริงกันนะคะ:

เรื่องที่ 1 – นายเอ โดนโรงเรียนภาษาแห่งหนึ่งแจ้งยกเลิกวีซ่า เพราะมี attendance เพียง 20% โดยสาเหตุที่นายเอหยุดเรียน ก็เพราะมัวแต่ช่วยดูแลเพื่อนร่วมที่พักเดียวกันที่มีปัญหาเข่าแตก เดินไม่ได้ เขาต้องคอยหุงหาอาหาร พาเพื่อนเข้าห้องน้ำ หาหมอ เป็นต้น จนกระทบผลการเรียนของตนเอง คุณหมอวีซ่าเขียนเรื่องสำนวนสวยเก๋ให้จนทางอิมฯคงเห็นใจ กระมัง จึงคืนวีซ่าให้น้องเขา ในเคสนี้ คุณหมอวีซ่า

ได้อ้างอิงหลักมนุษยธรรมตามเพลงของ Michael Jackson ที่ตอนนั้นเพิ่งเสียชีวิตไปใหม่ๆ ให้รักเพื่อนมนุษย์ด้วยกัน “…there are people dying, if you care enough for the living, make a better place, for you and for me…” ปรากฎว่าเจ้าหน้าที่ประทับใจ คืนวีซ่าให้เร็วมาก ก็น่ายินดีกับน้องเขาด้วยที่ได้วีซ่าคืนมา…คนดี มีน้ำใจ ก็พึงได้รับสิ่งดีๆเป็นที่ตอบแทน เด็กคนนี้เป็นคนกตัญญู รู้บุญคุณของนายจ้างที่เลี้ยงดูเขามา เป็นที่รักใคร่ของทั้งนายจ้างและเพื่อนๆมาก ก็สมควรได้สิ่งดีๆในชีวิตเป็นที่ตอบแทน

เรื่องที่ 2 – นางสาวบี โดนลงหลักสูตรแพ๊คเก็จมาเรียนภาษาจบแล้วต้องต่อหลักสูตรดิพโพลม่า แต่ ไม่อยากต่อดิพโพลม่า เอเย่นคนเดิมไม่ยอมเปลี่ยนคอร์สให้ จึงไปหาเอเย่นใหม่ย้ายโรงเรียนโดยไม่ไปทำเรื่อง

แจ้งอิมฯอย่างถูกต้อง โรงเรียนเก่าจึงแจ้งอิมฯยกเลิกวีซ่า โดยออก NCN letter โดยเจ้าตัวไม่รู้เรื่อง และไม่เคยได้รับจดหมายฉบับนี้เลย มารู้ตัวอีกที ก็ตอนเดินทางออกสนามบินจะกลับบ้านไปเยี่ยมคุณแม่ แย่เลย ตกใจเพราะเจ้าหน้าที่สนามบินแจ้งว่าโดน ban 3 ปีกลับเข้าออสฯไม่ได้ คุณหมอวีซ่าเผอิญช่วงนั้นอยู่เมืองไทย จึงได้ทำเรื่องเข้าสถานทูตฯ ขอ waive 3 ปีนี้ให้จนประสบความสำเร็จ ทุกวันนี้ น้องก็เรียนใกล้จบแล้ว ยินดีด้วย

เรื่องที่ 3 – นายซี เรียนภาษายังไม่ทันได้ระดับ ก็โดนจับให้ไปขึ้นชั้นเรียนดิพฯ และเกิดอาการเรียนไม่รู้เรื่อง จึงไม่ไปโรงเรียนซะดื้อๆอย่างนั้นแหล่ะ จนโรงเรียนออกจดหมายแจ้งอิมฯ จากประวัติการเรียกวีซ่าให้เด็กจากโรงเรียนเดียวกันนี้คืนมานับไม่ถวน คุณหมอวีซ่าก็หยิบมาซัก 10 ชื่ออ้างไปกับอิมฯถึงวิธีการเรียนการสอนที่ไม่ได้มาตรฐาน ปรากฎว่าอิมฯเห็นด้วย น้องก็เลยรอดไปอีกหนึ่งราย

เรื่องที่ 4 – นายดี ไม่อยากเรียนแล้ว มัวแต่ทำงานเพลินจน attendance มีปัญหา จึงไปให้เอเย่นเดินเรื่องให้เป็นวีซ่าติดตามแฟนที่มีอายุวีซ่านานกว่าตน และขยันเรียนกว่า ปรากฎว่าโดนอิมฯเด้งกลับมาว่าทำไม่ได้ เนื่องจากทางโรงเรียนได้แจ้งเข้ามาแล้ว มาพบคุณหมอวีซ่าจึงทำเรื่องให้นายดี รอดจากเรื่อง non-compliance คือให้อิมฯยอมไม่ยกเลิกวีซ่าของนายดีก่อน แล้วจึงไปยื่นเรื่องติดตามให้เป็นขั้นเป็นตอนตามกฎหมายไป ก็ปรากฎว่าเรียบร้อยดี ทุกอย่างเสร็จภายในหนึ่งสัปดาห์ในช่วงนั้น เขาสองคนก็ดีใจกันมากที่ได้อนาคตคืนมา ปัจจุบันแฟนเรียนจบแล้ว คุณหมอวีซ่าก็กำลังเดินเรื่อง PR ให้ทั้งคู่ อนาคตสดใสค่ะ

วันนี้ขอจบเพียงแค่นี้ก่อน คุณหมอวีซ่าช่วงนี้อยู่เมืองไทย มัวยุ่งกับการย้ายอ๊อฟฟิสใหม่ทั้งที่กรุงเทพฯ และเชียงใหม่ คงจะแล้วเสร็จภายในเดือนมีนาคม 2011 นี้ ช่วงหยุดสงกรานต์นี้ หากท่านผู้อ่าน Thai Press ท่านใดมีโอกาส ก็ขอเชิญทุกท่านไปเยือน offices ใหม่ของทั้ง CP Bangkok and CP Chiang Mai ที่สะดวกสบาย สวยกว่า ใหญ่กว่า ทันสมัยกว่าเดิม ด้วยชื่อใหม่ Go Inter ของเรา คือ “CP International Education and Migration Centre” โดยสำนักงาน CP International ที่กรุงเทพฯจะตั้งอยู่ที่ ชั้น 9 ห้อง 407/35 Phaholyothin Place ถนนพหลโยธิน พญาไท สถานีรถไฟฟ้าอารีย์ ส่วน CP International ที่เชียงใหม่ เป็นอาคารสามชั้นใหม่ อยู่หลัง ม.เชียงใหม่ที่เลขที่ 107/20 Panna Residence 3 หมู่ 14 ตำบลสุเทพ อำเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่ แล้วเอาไว้คุณหมอวีซ่าจะแจ้งเบอร์โทรศัพท์ใหม่ให้อีกทีนะคะ อย่าลืมมาร่วม Go Inter กับ CP International สมัครเรียนทำวีซ่า ไป Australia, New Zealand, UK, USA, Canada, Singapore and China ไปกับทีมงานคุณภาพของ CP International นะคะ…

เรื่องวีซ่าต้องยกให้ CP – SURE ที่สุดแล้ว

อย่าลืมมากด Like ที่ facebook.com/cpinternational

มีคำถามเกี่ยวกับการสมัครหรือสถานะวีซ่าออสเตรเลียของคุณ? ต้องการสมัครเพื่อศึกษาต่อ ทำงาน หรืออาศัยอยู่ในออสเตรเลีย? สามารถขอคำแนะนำจากทีมคุณหมอวีซ่าได้ที่: