คุณหมอวีซ่า 01/12/2010

มองย้อนหลังปี 2010 – ในโลกของการศึกษาต่อต่างประเทศ

ส่วนในโลกของการศึกษาต่อต่างประเทศโดยเฉพาะในประเทศออสเตรเลียก็เกิดการเปลี่ยนแปลงและเหตุการณ์อลหม่านที่ไม่เคยคาดการณ์กันมาก่อนตั้งแต่เปิดฉากต้นปี 2010 เลยทีเดียว ด้วยการประกาศล้มละลายของโรงเรียนหลายแห่ง กระทั่งโรงเรียนชื่อดังเช่น GEOS Australia ที่มีถึง 8 สาขาทั่วออสเตรเลีย ส่งผลให้นักเรียนกว่า 2,300 คนต่างหาที่เรียนใหม่หรือกลับประเทศ ตามกันติดๆ ด้วยการปิดของโรงเรียนอาชีวศึกษาอีกหลายแห่ง โดยเฉพาะในรัฐ Victoria ที่เกิดจากการปฏิบัติผิดเงื่อนไขที่ทางรัฐบาลกำหนดบ้าง ล้มละลายบ้าง ประกอบกับการที่อิมมิเกรชั่นออกนโยบายใหม่เข้มงวดในเรื่องกฎเกณฑ์ของวีซ่านักเรียนขึ้นอีกมาก และที่เห็นชัดๆ ก็คือ การประกาศแยกเรื่องการเรียนกับการอพยพเข้าเมืองออกจากกันทั้งสองสาขาอย่างเห็นได้ชัดเจน โดยเฉพาะกับการเรียนในสายอาชีวศึกษา (เช่น Cookery, Hairdressing) ที่เคย link กับเรื่องการอพยพข้ามฝั่งอนุมัติให้ข้ามฝั่งไปถือวีซ่าถาวรของออสเตรเลียได้อย่างง่ายๆในอดีตมาเป็นเวลาหลายปี จนรัฐบาลเพิ่งจะมาพบว่าไม่ใช่วิธีที่ดี เพราะทำให้ประเทศได้แต่ผู้อพยพที่ไม่มีคุณภาพ จึงได้พยายามทำการแก้ไขและเปลี่ยนกฎเกี่ยวกับวีซ่าทักษะ (Skilled Visa) ครั้งแล้วครั้งเล่าเพื่อแก้ปัญหาจุดนี้ ส่งผลให้จำนวนนักเรียนที่เคยเลือกมาเรียนต่อในประเทศออสเตรเลียลดลงไปถึง 30% กระทบต่อรายได้ร่วม $18 พันล้านเหรียญของประเทศอย่างมหาศาล ประชากรก็พากันตกงาน จวบกับเงินดอลลาห์ออสเตรเลียก็แข็งตัวขึ้นอีก สถาบันต่างๆจึงรวมตัวกันขึ้นมาต่อต้านให้รัฐบาลผ่อนกฎเกี่ยวกับวีซ่านักเรียนลงบ้าง แต่รัฐบาลออสเตรเลียก็ยืนกรานว่าที่ต้องทำเช่นนี้ก็เพื่อกู้สถานการณ์และชื่อเสียงทางการศึกษาเพื่อสร้างความมั่นใจให้กับนักศึกษาทั่วโลกว่าออสเตรเลียสามารถให้คุณภาพการศึกษาที่ดียิ่งต่อชาวโลกได้ จะสังเกตว่าสถาบันยิ่งต่อต้าน รัฐฯก็ยิ่งเคี่ยวขึ้น และเมื่อวันที่ 25 November 2010 ที่ผ่านมา รัฐบาลก็ได้ประกาศเปลี่ยนกฎเพิ่มเติมอีกในการแยกหลักสูตร Diploma กับ Advanced Diploma ออกเป็นระดับอาชีวะ (Vocational) กับเป็นระดับการศึกษาชั้นสูง (Higher Education) จนโรงเรียนอาชีวะระดับเอกชนซึ่งขายแต่หลักสูตรภายใต้วีซ่า subclass 572 ต่างเกิดความไม่พึงพอใจที่รัฐบาลออสเตรเลียมีนโยบายกีดกันหลักสูตรกันถึงขั้นนี้ เห็นแหล่งข่าวสื่อกันมาว่า สถาบันเอกชนหลายแห่งกำลังรวมตัวเพื่อฟ้องร้องท่านรัฐมนตรีตรวจคนเข้าเมืองคือ ท่าน Chris Bowen MP เห็นว่าจะเอาท่านไปขึ้นศาล ด้วยเหตุผลที่ว่านโยบายของรัฐบาลออสเตรเลียแสดงให้เห็นถึงการแบ่งแยกและกีดกันระหว่างหลักสูตรโดยเฉพาะของสถาบันของรัฐบาล หรือกลุ่มที่เชื่อมกับมหาวิทยาลัยต่างๆ กับสถาบันเอกชนอย่างไม่ยุติธรรม การทำเช่นนี้ ก็เท่ากับทำให้สถาบันเอกชนอาจอยู่รอดไม่ได้ และต้องปิดประตูตามๆกันไป และถ้าเป็นเช่นนั้น ก็จะส่งผลให้ประชากรชาวออสเตรเลียตกงานกันเป็นแถวๆ อย่างเช่นตามที่คุณ Natasha Muyrseidl ประธานของ Kelly Colleges ที่ Brisbane ได้ยืนขึ้นมาต่อต้านรัฐบาลกับการให้ข้อมูลผ่านสื่อโดยให้ความเห็นว่า ถ้าโรงเรียนของเขาต้องปิดประตู ก็จะมีชาวออสซี่ตกงานถึง 50 คน และถ้าอีกหลายๆ colleges ก็ต้องโดนบังคับให้ปิดธุรกิจเพราะอยู่รอดไม่ได้ เนื่องจากจะไม่มีจำนวนนักเรียนเพียงพอเข้ามาเรียนในออสเตรเลียอีกแล้ว เพราะวีซ่าเคี่ยวขึ้นมาก ถ้าเป็นเช่นนี้ ก็ลองนึกดูว่าจะมีชาวออสซี่ตกงานกันอีกกี่คน คุณ Natasha กล่าวว่าตอนนี้ มันเป็นเรื่องปากเรื่องท้อง เรื่องความอยู่รอดของประชากรชาวออสซี่ ไม่ใช่เป็นเรื่องทางการเมืองเสียแล้ว…

แต่ทางรัฐบาลออสเตรเลียชุดปัจจุบันที่นำโดยท่านนายกหญิง Julia Gillard ก็ยืนยันว่าตัวเลขนักเรียนเข้าออสเตรเลียตกนั้น ก็มีสาเหตุมาจากหลายปัจจัย ทั้งเรื่องค่าเงิน dollars ที่แข็งตัวขึ้น การแข่งขันในตลาดโลกที่ดุเดือด และการเปลี่ยนกฎวีซ่านักเรียนที่เข้มงวดขึ้น โดยรัฐบาลมีนโยบายจะคัดเฉพาะแต่ประเภทนักเรียนที่มีเจตนาจะมาเรียนอย่างแท้งจริง และมีเงินมากพอที่จะกินอยู่และเรียนในออสเตรเลียได้จริงๆ ถึงจะมีโอกาสผ่านวีซ่าได้ ซึ่งหมายถึงการเน้นทางด้านคุณภาพสูงโดยตรง และการเน้นคุณภาพนี้ ก็รวมไปถึงการควบคุมคุณภาพของเอเย่นการศึกษาจากทั่วโลกด้วย โดยเมื่อปลายเดือน November 2010 ที่ผ่านมา เจ้าหน้าที่อิมมิเกรชั่นชั้นสูงจากสถานทูตออสเตรเลียประจำประเทศไทย 3 ท่านก็เพิ่งจะมาเยือนสำนักงาน CP สาขากรุงเทพ เพื่อมาส่งข่าวการอนุมัติให้ CP ต่ออายุการเป็น eVisa agent 1 ใน 10 เจ้าของประเทศไทยที่หลงเหลืออยู่ พร้อมส่งสัญญาฉบับใหม่ที่เข้มงวดขึ้นกว่าเดิมอีกมาให้เซ็น และให้การอบรมพนักงาน CP คร่าวๆ (ซึ่งเข้าใจว่าตอนช่วงที่รัฐบาลออสเตรเลียปล่อยวีซ่าและออกวีซ่านักเรียนอย่างง่ายดาย อิมฯได้นำระบบ eVisa เข้ามาใช้กับประเทศไทย จีน อินเดียสำหรับการยื่นวีซ่านักเรียนในระดับ Assessment Level 2 – 4 เป็นครั้งแรก ในช่วงต้นๆอิมฯเคยแต่งตั้ง eVisa agents ถึง 50 กว่าเจ้า แต่ด้วยการที่เอเย่นไม่รักษาคุณภาพ โดยเฉพาะมีหลายแห่งก็ทำเอกสารปลอมแปลงไปหลอกทางสถานทูตจนเขาเข็ด จึงมีการตัดเอเย่น eVisa ออกจาก list สถานทูตไปมาก)

ในขณะที่ประเทศออสเตรเลียกำลังเกิดความวุ่นวายในวงการการศึกษา ประเทศอื่นๆอย่างเช่นอังกฤษ (UK) ก็มีการเคี่ยวเรื่องวีซ่านักเรียนเช่นกันโดยบังคับให้นักเรียนนอกกลุ่ม EU จะต้องสอบภาษาอังกฤษให้ผ่านระดับพื้นฐาน จึงจะออกวีซ่าให้เข้าไปเรียนภาษาอังกฤษที่ประเทศอังกฤษได้ ช่วงนั้นก็เป็นช่วงเลือกตั้งที่โน่นพอดี ทางสถาบันสอนภาษาที่อังกฤษเกิดความไม่พอใจ และรวมตัวขึ้นมาต่อต้านกัน โดยทางสมาพันธ์ English UK ได้ยื่นอุทธรณทำเรื่องผ่าน Judicial Review แล้วก็ชนะคดี กฎข้อนี้ก็เลยพับไป ทางประเทศอังกฤษจึงไม่ได้รับผลกระทบกับจำนวนนักเรียนที่ตกฮวบฮาบเหมือนที่เกิดขึ้นในออสเตรเลีย

ส่วนที่ประเทศ Canada ขณะที่ประเทศออสเตรเลียและอังกฤษขึ้นมาเคี่ยวเรื่องวีซ่านักเรียนกัน Canada กลับผ่อนลงโดยการเสนอโครงการใหม่ๆ อย่างเช่น Dual Intent และ Study and Work programs ในการอนุมัติให้นักเรียนที่เลือกไปเรียนที่ประเทศแคนนาดาสามารถได้วีซ่าทำงานได้เท่ากับเวลาที่ลงเรียน อย่างเช่น เรียน 1 ปีก็ได้วีซ่าทำงาน 1 ปี เรียน 2 ปี ก็ได้วีซ่าทำงานต่ออีก 2 ปี เป็นต้น ยิ่งกว่านั้น เด็กที่จบ 2 ปี และทำงาน 1 ปีในแคนนาดา ยังสามารถขอวีซ่าอาศัยอยู่อย่างถาวรภายใต้โครงการ Canadian Experience Class ได้อีกด้วย คล้ายๆกับที่ออสเตรเลียเคยประสบความสำเร็จในแง่ของการดึงดูดนักศึกษานานาชาติให้เข้าเมืองตนเพื่อเรียนหนังสือ ทำรายได้ให้กับประเทศนั่นเอง นอกจากนี้ แคนนาดายังอนุมัติการต่ออายุโครงการ Student Contest Program ในการคัดเลือกสมาชิกในกลุ่ม AACC ให้ทำงานอย่างใกล้ชิดกับอิมมิเกรชั่นของ Canada (Citizenship and Immigration Canada – CIC) เพื่ออำนวยความสะดวกให้วีซ่านักเรียนผ่านได้ว่องไวง่ายขึ้น คล้ายๆกับโปรแกรมแต่งตั้ง eVisa agents ของออสเตรเลียนั่นเอง ต่างกันตรงที่ในขณะที่ Canada เพิ่มจำนวนเอเย่น ออสเตรเลียตอนนี้ตัดจำนวนลงเหลือน้อยมากๆ อีกอย่างก็คือในขณะที่ Australia หยุดเรื่องการรับผู้อพยพถาวร (Permanent Resident) โดยผ่านช่องทางทางการศึกษา รัฐบาล Canada กลับ offer ทางลัด (fast – track) ให้นักเรียนได้ Citizenship ของ Canada เร็วขึ้นหากเรียนจบระดับมหาวิทยาลัยในมณฑล Quebec เป็นต้น

ส่วนที่อเมริกา (USA) ก็มีการแต่งตั้งเอเย่น 8 เจ้าแรกให้ได้รับใบรับรองที่เรียกว่า American International Recruitment Council (AIRC) ตั้งแต่เดือนธันวาคม 2009 ที่ผ่านมา ด้วยความที่เป็นประเทศที่ได้รับความนิยมมาเป็นอันดับหนึ่งของนักเรียนจากทั่วโลก สมัยก่อนที่จะมีเหตุการณ์เครื่องบินชนตึกคู่ฟ้าในนิวยอร์ก สหรัฐฯ ไม่เคยต้องอาศัยระบบเอเย่น หรือระบบจ่ายค่าคอมมิชชั่นให้เอเย่นในการหานักเรียนให้เลย เด็กเลือกที่จะไปเองอยู่แล้ว การจัดตั้งสมาคมดังกล่าว จึงนับเป็นก้าวแรกของการแนะนำระบบเอเย่น โดยเจาะตรงเข้าตลาดโลกในการแข่งขันเชิงรุกอย่างแท้จริง

ประเทศอื่นๆเช่น Singapore ก็เข้ามาแข่งขันกับตลาดโลก โดยมีจุดเด่นตรงที่นักเรียนจะได้เรียนทั้งภาษาอังกฤษและจีนภายใต้สภาพแวดล้อมที่สะอาดปลอดภัย และสำหรับนักเรียนไทย ก็อยู่ไม่ไกลบ้าน สำหรับน้องๆที่ budget ต่ำ ปัจจุบันก็มี Malaysia เข้ามาให้เป็นทางเลือก โดยเด็กไทยโดยเฉพาะจากภาคใต้ คุณพ่อคุณแม่ก็นิยมส่งไปเรียนที่ปีนังและกัวลาลัมเปอร์ มาเป็นเวลาช้านานแล้ว

ปัจจุบัน ตลาดจีนก็มาแรง เพราะเด็กจากทั่วโลกจะชอบไปเรียนภาษาจีนและท่องเที่ยวประเทศจีนไปในตัว ยิ่งเศรษฐกิจจีนเติบโตเร็วมากเช่นนี้ ยิ่งเป็นจุดดึงดูดให้คุณพ่อคุณแม่อยากส่งเด็กๆไปเรียนรู้กัน

มีคำถามเกี่ยวกับการสมัครหรือสถานะวีซ่าออสเตรเลียของคุณ? ต้องการสมัครเพื่อศึกษาต่อ ทำงาน หรืออาศัยอยู่ในออสเตรเลีย? สามารถขอคำแนะนำจากทีมคุณหมอวีซ่าได้ที่: