6 June 2015

สวัสดีค่ะ ท่านผู้อ่านที่รักทุกท่าน ต้อนรับฉบับแรกของเดือนมิถุนายนด้วยอากาศที่หนาวเหน็บกันเหลือเกิน หนาวจนกระทั่งเป็นข่าวที่ว่าอุณหภูมิของอากาศในซิดนีย์ลดลงไปต่ำสุดอยู่แค่ที่ 5 องศาเซลเซียสในตอนเช้าของวันอังคารที่ 2 มิถุนายนที่ผ่านมา นับได้ว่าเป็นอุณหภูมิที่ต่ำที่สุดของอากาศตอนเช้าในซิดนีย์ในรอบหลายทศวรรษทีเดียวเลย หนาวจนขนาดที่ว่าเทศกาลหิมะที่ทุกคนรอคอยได้เริ่มขึ้นเร็วกว่าปกติที่เคยเป็นกันเลยทีเดียวค่ะ เห็นตามข่าวบอกว่าสามารถไปเล่นสกีหิมะกันได้ทั้งที่ Thredbo และ Perisher ตั้งแต่สุดสัปดาห์แรกของเดือนมิถุนายนที่ผ่านมากันเลยค่ะ ท่านผู้อ่านท่านไหนที่มีแพลนว่าจะไปเที่ยวเทศกาลหิมะในปีนี้ก็เช็คสภาพอากาศและลู่ทางความปลอดภัยกันด้วยนะคะ เพราะอากาศปีนี้ไม่ได้หนาวตามฤดูกาลเหมือนที่ควรจะเป็นเลยค่ะ โลกมันร้อนๆหนาวๆ ขณะที่อินเดียบางพื้นที่มีประชากรร้อนจนตายไปแล้ว 2,000 กว่าคน ที่ออสเตรเลีย ปีนี้ทั้งหนาวเร็ว หนาวแรง และหนาวสุดๆ ยังไงก็ใส่เสื้อผ้าหนาๆอุ่นๆกันไว้นะคะ จะได้ไม่ตกอยู่ในสภาวะการเจ็บไข้ได้ป่วยค่ะ ยังไงซะการไม่มีโรคก็เป็นลาภอันประเสริฐสุดของปุถุชนคนธรรมดาอย่างเราๆกันค่ะ

ถึงแม้ว่าปี 2015 เพิ่งผ่านไปแค่ 5 เดือนกำลังย่างเข้าเดือนที่ 6…แต่มีเหตุการณ์เกิดขึ้นมากมายเลยนะคะ ที่ทำให้ทางรัฐบาลออสเตรเลียมีแนวโน้มที่จะให้ทางอิมมิเกรชั่นเพิ่มมาตรการในการตรวจสอบ และควบคุมการเข้าออกของคนต่างชาติที่จะเข้ามาในออสเตรเลียให้มีความเข้มงวดกวนขันมากขึ้นกว่าที่เป็นอยู่นะคะ ไล่กันมาตั้งแต่ก่อนขึ้นปี 2015 กับเหตุการณ์ก่อการร้ายกระฉ่อนโลก ณ คาเฟ่ชื่อดังใจกลางกรุงซิดนีย์ที่คร่าชีวิต 2 ผู้บริสุทธิ์จากเหตุการณ์ดังกล่าว ตามมาด้วยการพาดหัวข่าวของท่านรัฐมนตรีอิมฯคนใหม่ที่ออกมาบอกใบ้ในช่วงต้นเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมาประมาณว่า “ออสเตรเลียเต็มแล้ว” และสุดท้ายที่ถือได้ว่าเขย่าวงการการศึกษาสุดๆก็คือ การออกมาเปิดโปงของรายการ Four Corners เกี่ยวกับเอเจนท์ตัวแทนการศึกษาที่มีกลโกงในการสมัครเรียนให้นักเรียนโดยร่วมมือกับสถาบันการศึกษาที่ไม่ได้การรับรองมาตรฐานจากทางรัฐบาลออสเตรเลีย ร้อนถึงทางรัฐบาลที่ต้องออกมาออกมาตรการลงโทษกับสถาบันดังกล่าว เล่นเอาวุ่นวายกันไปยกใหญ่เลยค่ะสำหรับเอเจนท์และสถาบันการศึกษานั้นๆ

จากสิ่งที่เกริ่นมาทั้งหมดให้ฟังนี่ ท่านผู้อ่านอาจจะสงสัยนะคะว่าคุณหมอวีซ่าพูดถึงเหตุการณ์ที่ผ่านมาแล้วทำไม? ก็เพราะเหตุการณ์ในอดีตทั้งหลายนี่แหล่ะค่ะที่ส่งผลต่อวีซ่านักเรียนที่เป็นที่นิยมของท่านผู้อ่านคนไทยที่น่ารักทุกท่าน ท่านผู้อ่านอาจจะคุ้นๆกับคำว่า Genuine Temporary Entrant (GTE) หรือ Streamlined Visa Processing (SVP) เวลาเข้าไปปรึกษากับเอเจนท์ในการสมัครเรียนใหม่เพื่อต่อวีซ่า โดยเฉพาะท่านผู้อ่านที่อาศัยอยู่ที่นี่มาสักระยะหนึ่งด้วยวีซ่านักเรียนน่าจะคุ้นชินกับ 2 คำนี้กันพอสมควรนะคะ อย่างไรก็ดีวันนี้คุณหมอวีซ่าจะมาเล่าถึงคำว่า SVP ให้ฟังกันก่อนว่า SVP คืออะไร และมีประโยชน์อย่างไรสำหรับท่านผู้อ่านที่กำลังมองหาสถาบันการศึกษาที่ค่อนข้างมีคุณภาพเพื่อเพิ่มโอกาสในการต่อวีซ่าของท่านผู้อ่านทั้งหลายในครั้งถัดไปกันนะคะ

Streamlined Visa Processing แปลกันตามรากศัพท์เลยก็คือ กระบวนการอนุมัติวีซ่านักเรียนที่มีประสิทธิภาพสูงกว่าวีซ่านักเรียนทั่วไป แล้วทำไมวีซ่า SVP ถึงมีภาษีดีกว่าวีซ่าทั่วไป คำตอบก็คือระยะเวลาที่ใช้ในการอนุมัติจะสั้นกว่าวีซ่านักเรียนทั่วไป และมีโอกาสผ่านสูงกว่าวีซ่านักเรียนธรรมดา ซึ่งการที่จะได้รับการพิจารณาแบบ SVP นั้น ท่านผู้อ่านก็ต้องสมัครเรียนกับทางสถาบันที่ได้รับการประกันคุณภาพว่าเป็นสถาบัน SVP จากทางอิมฯก่อนนะคะ ตัวอย่างสถาบัน SVP ก็เช่นมหาวิทยาลัยต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นมหาวิทยาลัย เช่น University of Sydney, University of Technology Sydney (UTS), Macquarie University, University of Wollongong เป็นต้น หรือแม้กระทั่งในสถาบันที่เปิดสอนในระดับวิชาชีพ เช่น TAFE และอื่นๆ ซึ่งท่านผู้อ่านทุกท่านสามารถหารายชื่อของสถาบันดังกล่าวได้จากลิงค์ที่คุณหมอวีซ่าได้แนบไว้ให้ด้านข้างนี้นะคะ

http://www.comlaw.gov.au/Details/F2014L01511 ซึ่งแน่นอนล่ะค่ะว่าสถาบัน SVP ทั้งหลายก็จะต้องมีคุณภาพและราคาที่สูงกว่าสถาบันทั้งหลายที่ไม่ได้รับมาตรฐานดังกล่าว ซึ่งสถาบันที่เป็น SVP ทั้งหลายก็จะมีความเข้มงวดกวดขันในการรับนักเรียนเข้าไปศึกษาต่อกับทางสถาบันของตัวเอง เพราะทางโรงเรียนจะมีกระบวนการรับนักเรียนที่ยุ่งยากและมีการเรียกขอเอกสารจากนักเรียนมากกว่าสถาบันโดยทั่วไป ซึ่งอันนี้ก็ขึ้นอยู่กับนโยบายของแต่ละโรงเรียนว่าจะเรียกเอกสารอะไรบ้างจากทางผู้สมัคร บ้างก็ต้องผ่านกระบวนการสัมภาษณ์นักเรียนก่อนรับเข้าเรียน การที่อิมมิเกรชั่นออกกฎวีซ่า SVP ก็เหมือนกับเป็นวีซ่าเอ็กเพรซที่ทางอิมฯผลักภาระไปให้กับทางสถาบันการศึกษาในการคัดกรองนักเรียนที่จะมาเข้าเรียนในสถาบันของตน เมื่อนักเรียนต่างชาติได้ CoE (ใบตอบรับการเรียน) จากสถาบันที่เป็น SVP ทางอิมมิเกรชั่นจะถือว่านักเรียนต่างชาติเหล่านี้เป็นนักเรียนที่ผ่านการคัดเลือกและมีเจตนาที่จะตั้งใจจะมาเรียนเพื่อศึกษาหาความรู้ในประเทศออสเตรเลียจริงๆ ไม่ใช่มาเพื่อประสงค์ของการมาทำงาน ซึ่งสถาบัน SVP เองก็ต้องมีการตั้งมาตรฐานเอาไว้ แต่ถ้าหากสถาบันการศึกษาไม่คัดเด็กให้ดีๆ แล้วอิมมิเกรชั่นมาพบว่านักเรียนมีประวัติเสียมาก่อน วีซ่าก็อาจโดนปฏิเสธ ซึ่งจะส่งผลต่อสถาบัน SVP อาจจะทำให้สถาบันที่เป็น SVP โดนถอดออกจากระบบ SVP ได้ ดังนั้นจึงเปรียบได้ว่าสถาบัน SVP เป็นเสมือนตัวสกรีนด่านแรกให้กับทางอิมฯดีๆนั่นเองค่ะ จึงไม่น่าแปลกใจว่าทำไมวีซ่าถึงอนุมัติเร็วขึ้น ดังนั้น เราจะเห็นว่าในการสมัครเรียนเข้าสถาบันที่ถือสถาณภาพเป็น SVP นั้น สถาบันจึงขอนู่นขอนี่ก่อนที่จะรับนักเรียนเข้าเรียนนั่นเอง

แต่ท่านผู้อ่านอย่าเข้าใจผิดนะคะว่าการสมัครเรียนกับสถาบันที่เป็น SVP จะไม่ต้องโชว์หลักฐานทางการเงินในการยื่นขอวีซ่า เพราะอย่างไรก็ดีหากท่านผู้อ่านทั้งหลายสมัครเรียนคอร์สในระดับที่ต่ำกว่าปริญญาตรีลงมา (subclass 572) ถึงแม้ว่าจะสมัครกับทางสถาบันที่เป็น SVP ก็จะถูกพิจารณาให้อยู่ใน Assessment Level 2 ต้องโชว์หลักฐานทางการเงินในการต่อวีซ่าอยู่ดีค่ะ อย่าเข้าใจผิดหรือสับสนระหว่างประเด็นของ SVP กับ Assessment Level ในการยื่นวีซ่านะคะ เพราะฉะนั้นหลักการของ SVP อาจจะเปรียบได้กับสำนวนไทยที่ว่า ลำบากตอนนี้สบายตอนหน้า ก็เป็นไปได้นะคะ คือสมัครเรียนยุ่งยากกว่าปกติหน่อยนึง แต่การยื่นวีซ่าอาจจะมีโอกาสผ่านสูงขึ้นและใช้เวลาน้อยกว่าปกติค่ะ

เมื่อเป็นอย่างนี้แล้ว ท่านผู้อ่านที่รักทุกท่านก็ควรจะมองหาคอร์สเรียนจากสถาบัน SVP แต่ไม่ได้อย่างไรก็ตามการสมัครเรียนในสถาบัน SVP ก็ไม่ได้เป็นการการันตีนะคะว่าวีซ่านักเรียนจะผ่าน เพราะทั้งนี้ทั้งนั้นก็ขึ้นอยู่ประวัติการเรียนของนักเรียน เช่นบางคนอยู่ในออสเตรเลียมาหลายปีแล้ว แต่ยังเรียนไม่จบสักดิโพลมา หรือบางคนอยู่มาจะ 10 ปีแล้วก็ยังลงเรียนภาษาอยู่ อันนี้ต่อให้ลงเรียนในสถาบัน SVP ก็ไม่อาจช่วยได้ในเรื่องของวีซ่าค่ะ เพื่อความชัวร์สามารถเข้ามาติดต่อทีมงาน ซีพี อินเตอร์ฯ ได้ทุกสาขาเลยนะคะ วีซ่านักเรียนหลายๆคนอาจจะมองว่าง่าย แต่จริงๆแล้วไม่ง่ายเลยค่ะ ควรจะให้ผู้เชี่ยวชาญในเรื่องของวีซ่าดูแลดีกว่าค่ะ

ก่อนจะจากกันไปในฉบับต้อนรับเดือนมิถุนายนกันนะคะ คุณหมอวีซ่าขอประชาสัมพันธ์งานดีๆมีประโยชน์ที่จัดโดยทาง CP International อยู่สองงานไปฝากท่านผู้อ่านบอกต่อพี่น้องญาติเพื่อนฝูงได้เลยนะคะ งานที่หนึ่ง: จัดที่ CP SYDNEY เป็นงานสัมมนา Migration Seminar ในวันที่ 15 และ 16 กรกฎาคม ตั้งแต่เวลาเที่ยงครึ่งถึงบ่ายสามโมงครึ่งของทั้ง 2 วันเลยค่ะ โดยทางซีพี ซิดนีย์จะรวบรวมการเปลี่ยนแปลงต่างๆจากอิมฯมาให้ท่านผู้อ่านได้ทราบโดยทั่วกัน พร้อมทั้งบรรยายเกี่ยววีซ่านายจ้างสปอนเซอร์ subclass 457 และวีซ่า subclass 485 (graduate) ที่ท่านผู้อ่านสามารถสมัครเพื่ออยู่ทำงานได้ 1. 5 – 2 ปีหลังจากเรียนจบด้วยนะคะ และปีนี้ถือว่าพิเศษกว่าทุกปีเพราะทาง Greenwich College จะเข้าร่วมงานสัมมนากับเราด้วยโดยจะมาร่วมบรรยายในหัวข้อของ Cambridge English คืออะไร ต่างจาก IELTS อย่างไร พร้อมตัวอย่างแบบฝึกหัดเพื่อเตรียมตัวทำข้อสอบด้วยค่ะ! อย่าลืมสำรองที่นั่งงานสัมมนาดีๆแบบนี้ที่จัดขึ้นเพียงแค่ปีละครั้งเท่านั้นนะคะ งานนี้รับจำนวนจำกัดค่ะ ไม่มีค่าใช้จ่ายใดๆทั้งสิ้นด้วยค่ะ สามารถติดต่อรายละเอียดเพิ่มเติมหรือสำรองที่นั่งกับได้ที่ 02 9267 8522

ส่วนงานที่สอง: ก็เป็นงานการศึกษาต่อประเทศออสเตรเลียประจำปีที่จัดโดย CP Bangkok ในวันเสาร์ที่ 4 July 2015 ตั้งแต่เวลา 11.00-17.00 น. ชื่องาน “CP Australia Education Fair 2015” ที่ชั้น M โรงแรมปทุมวัน ปริ๊นเซส มาบุญครอง ซึ่งประกอบพิธีเปิดโดยตัวแทนจากท่านทูตพาณิชน์จากสถานทูตออสเตรเลีย ภายในงาน นอกจากจะมีการแจกทุน ลุ้นตั๋วเครื่องบิน กับโปรโมชั่นอื่นๆแล้ว ยังมีการลุ้นรับ Power Bank กับหนังสือ / CD IELTS โดย British Council สำหรับผู้ที่ลงทะเบียนร่วมงานล่วงหน้าผ่านทางเว๊ปไซท์ www.cpinter.co.th ของเราอีกด้วย พบกับสัมมนาหัวข้อที่แปลกแตกต่างจากงานทั่วไป ในการสร้างโอกาสขอวีซ่าทำงานต่อในออสเตรเลียหลังเรียนจบหลักสูตรปริญญาสองปี ด้วย Talk Show บรรยายโดยคุณหมอวีซ่าเองโดยตรงในหัวข้อ “โอกาสและเส้นทางหลังเรียนจบที่ออสเตรเลีย” มาฟังดูว่าจะต้องเตรียมตัวอย่างไร เพื่อก้าวสู่ช่องทางของการขอ Temporary Graduate visa subclass 485 หรือ Training and Research visa subclass 402 หรือ Temporary Work (Skilled) Visa subclass 457 ประเภทที่มีนายจ้างเป็นสปอนเซอร์ให้ทำงานต่อในออสเตรเลียหลังเรียนจบ เพื่อเสริมสร้างประสบการณ์ทำงานในต่างประเทศก่อนกลับบ้าน เพิ่มคุณค่าให้กับตนเองในตลาดงานโลก และแถมบางคนก็อาจมีโอกาสทำ Skilled Visa อยู่ต่อเป็น Permanent Resident (PR) จนได้สัญชาติออสเตรเลียเพิ่มไปอีกหนึ่งสัญชาติก็เป็นไปได้ จึงขอเชิญมาพบกับคุณหมอวีซ่าและฟังข้อมูลที่มีประโยชน์ยิ่งต่อผู้ที่กำลังเรียน หรือวางแผนจะไปเรียนต่อที่ออสเตรเลีย นะคะ วางแผนให้ถูกต้องตั้งแต่ต้น จะได้ไม่ต้องไปเสียใจภายหลัง

สำหรับฉบับนี้คุณหมอวีซ่าขอลาไปก่อนนะคะ แล้วไว้พบกันในวันงานนะคะ




ขอเชิญร่วมฟังสัมมนาบรรยายโดยคุณหมอวีซ่า ในวันเสาร์ที่ 4 กรกฎาคม 2015 นี้ที่ รร ปทุมวัน ปรินเซส 11-17 น. – “ช่องทางสู่วีซ่าทำงานในออสเตรเลียหลังเรียนจบ”

มีคำถามเกี่ยวกับการสมัครหรือสถานะวีซ่าออสเตรเลียของคุณ? ต้องการสมัครเพื่อศึกษาต่อ ทำงาน หรืออาศัยอยู่ในออสเตรเลีย? สามารถขอคำแนะนำจากทีมคุณหมอวีซ่าได้ที่: