Dr Visa Article –26 November 2019

เริ่มเปิดให้สมัครได้แล้ว – วีซ่าใหม่ล่าสุดของออสเตรเลีย ประเภท 491 กับ 494 ส่งเสริมเศรษฐกิจในเขตภูมิภาคทุกหัวเมือง ยกเว้นเมืองหลัก คือ Sydney, Melbourne กับ Brisbane 

นับได้ว่าเป็นการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ครั้งหนึ่งในวงการวีซ่าของประเทศออสเตรเลียก็ว่าได้ คือรัฐบาลฯได้ทำการหันเหทิศทางไปสนับสนุนและสร้างความรุ่งเรืองทางเศรษฐกิจ พร้อมการเติมเต็มประชากรให้กับเขตภูมิภาคอื่นๆ ทั่วทุกหัวเมืองในประเทศออสเตรเลีย ยกเว้นหัวเมืองหลักที่มีความเจริญล้ำหน้าและมีประชากรหนาแน่นอยู่มากพอแล้ว คือนคร Sydney, Melbourne กับ Brisbane ที่ได้รับการตั้งชื่อให้เรียกว่าเป็น “Major Cities”

ตั้งแต่วันที่ 16 พฤศจิกายน ค.ศ. 2019 เป็นต้นไป รัฐบาลออสเตรเลียได้เปิดตัววีซ่าเขตภูมิภาค (Regional Provisional visa) แบบชั่วคราวใหม่สุดอยู่สองตัว คือ วีซ่า 491 กับ 494 วีซ่าชั่วคราวสองหน่อนี้ จะออกให้เป็นเวลา 5 ปี และถ้าถือครบ 3 ปีโดยผู้ถือวีซ่าได้ปฏิบัติตามเงื่อนไขของวีซ่าครบทุกประการอย่างไม่บกพร่อง ผู้ถือวีซ่าก็จะมีสิทธิ์ข้ามฝั่งไปสู่วีซ่าถาวร 191 (Permanent Resident)ได้ ในระหว่างที่ถือวีซ่า 491 หรือ 494 ผู้ถือวีซ่าสามารถตั้งหลักแหล่งที่เขตภูมิภาคที่ตนเลือกที่จะไปอยู่ และมีสิทธิ์ ทำงาน ทำการค้า เรียนหนังสือ หรือประกอบการอื่นๆในเขตภูมิภาคต่างๆได้  ขั้นตอนก็ไม่ได้ยุ่งยากมาก จึงนับว่าเป็นข่าวดีที่น่าตื่นเต้นเลยทีเดียวนะคะ

วันนี้คุณหมอวีซ่าจึงอยากนำเรื่องของวีซ่าพี่น้องสองหน่อนี้มา ชี้แนะรายละเอียดให้กับท่านผู้อ่านเพื่อให้เข้าใจในเงื่อนไข และรับทราบข้อมูลที่รัฐบาลฯได้ประกาศออกมาเพื่อความเข้าใจที่ถูกต้อง  เผื่อผู้ใดที่คิดว่าตนเองน่าจะเข้าข่าย ก็จะได้ทำการเตรียมตัวยื่นเรื่องเสียตั้งแต่เนิ่นๆ อย่างเช่น หากน้องๆกำลังวางแผนการเรียนต่อที่ออสเตรเลีย ก็จะได้เลือกลงเรียนในสายวิชาอาชีพ ที่สามารถนำเราข้ามฝั่งไปสู่วีซ่าถาวรในอนาคตได้อย่างถูกต้องไม่ตกหล่นหลงทางนะคะ

วีซ่าตัวที่ 1: วีซ่าทักษะทำงานในเขตภูมิภาค 491 (Skilled Work Regional 491 Visa)


วีซ่าหน่อพี่ 491 ตัวนี้ เป็นวีซ่าทักษะที่ให้สิทธิ์ผู้ถือวีซ่าในการอาศัยอยู่ ทำงาน และเรียนหนังสือในเขตภูมิภาคได้เป็นเวลา 5 ปี และใช้เดินทางเข้าออกออสเตรเลียกี่ครั้งก็ได้ตลอดชั่วอายุของวีซ่า โดยการขอวีซ่าตัวนี้ คร่าวๆ ผู้ยื่นจะต้อง:

  • มีรัฐบาลภูมิภาคหรือญาติที่มีภูมิลำเนาอาศัยอยู่ในเขตภูมิภาคเป็นสปอนเซอร์ให้
  • ประกอบอาชีพที่มีรายการลงอยู่ในรายชื่ออาชีพตามทักษะที่เป็นที่ต้องการ (Skilled Occupation List) โดยห้ามเปลี่ยนสายอาชีพในภายหลัง แต่เปลี่ยนสายงานได้ อย่างเช่นพยาบาลที่เคยทำหน้าที่ดูแลเด็ก เปลี่ยนไปทำหน้าที่ดูแลคนชรา แต่ก็ยังเป็นพยาบาลอยู่ ไม่ใช่จากพยาบาลกระโดดไปเป็น Cook อย่างนี้ไม่โอเคค่ะ
  • ผ่านการประเมินวุฒิและอาชีพเทียบเคียงเท่ากับวุฒิที่องค์กรประเมินอาชีพต่างๆรับรอง
  • ได้รับจดหมายเชิญจากอิมมิเกรชั่นให้ทำการยื่นวีซ่า 491 ได้
  • ผ่านระบบนับแต้มได้ครบขั้นต่ำ 65 คะแนน โดยอาศัยคุณสมบัติทางอายุ ความสามารถทางภาษาอังกฤษ วุฒิการศึกษา และประสบการทำงานของตน เป็นต้น โดยวีซ่าชั่วคราวตัวนี้มีอายุถึง 5 ปี หลังผู้ถือวีซ่าถือจนครบ 3 ปีและได้ทำตามเงื่อนไขของวีซ่าครบทุกประการ
    ผู้ถือวีซ่าก็มีสิทธิ์ยื่นเรื่องขอวีซ่าถาวร (PR) ประเภท 191 ต่อเนื่องไปได้

วีซ่าตัวนี้สามารถยื่นจากภายในหรือนอกประเทศออสเตรเลียก็ได้ ค่าธรรมเนียมยื่นวีซ่าอยู่ที่ AUD4,045 โดยทางอิมมิเกรชั่นยังไม่มีการกำหนดเวลาว่าจะใช้เวลาพิจารณาวีซ่านานเท่าไหร่

นอกจากคุณสมบัติดังกล่าวข้างต้นแล้ว อยากได้วีซ่าตัวนี้ ผู้ยื่นจะต้องมีอายุไม่เกิน 45 ปี ณ เวลาที่อิมมิเกรชั่นออกจดหมายเชิญให้ยื่นวีซ่า 491 ได้ (แต่มีข้อยกเว้นเรื่องอายุให้นะคะ) และสอบผ่าน IELTS ได้คะแนนมาได้ 6 หรือ PTE, TOEFL or Advanced Cambridge เทียบเท่า ผ่านการตรวจร่างกายและสันติบาล ไม่เคยติดหนี้สินรัฐบาลออสเตรเลีย และไม่เคยถูกปฏิเสธหรือแคนเซิลวีซ่ามาก่อน โดยรัฐบาลจะออกจดหมายเชิญให้สมัครวีซ่าโดยจะคัดจากผู้ที่รวมคะแนนทักษะได้ขั้นต่ำ 65 คะแนน แต่พูดกันง่ายๆก็คือ ผู้ที่ได้คะแนนยิ่งสูงก็จะมีโอกาสถูกเรียกตัวก่อน เป็นธรรมดาค่ะ

ระบบการนับแต้มของวีซ่าตัวใหม่นี้ ก็มีการเปลี่ยนแปลงเช่นกัน ได้แก่

  • ให้ 10 คะแนน สำหรับคู่ครองของผู้ยื่นที่ผ่านการประเมินทักษะสำเร็จมาเช่นกัน
  • ให้ 15 คะแนน สำหรับผู้ยื่นวีซ่าที่มีรัฐบาลรัฐในเขตภูมิภาค หรือสมาชิกครอบครัวที่อาศัยอยู่ในเขตภูมิภาคตามกำหนด เป็นสปอนเซอร์ให้
  • ให้ 10 คะแนน สำหรับผู้ที่มีวุฒิจบมาทางด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี วิศวกรรมศาสตร์ หรือ คณิตศาสตร์ (STEM)
  • ให้ 10 คะแนน สำหรับผู้ยื่นวีซ่าที่เป็นโสดไม่มีคู่สมรส หรือคู่อยู่กินฉันท์สามีภรรยามา
  • ให้ 5 คะแนนสำหรับผู้ยื่นที่มีคู่ครองที่มีทักษะทางภาษาอังกฤษในระดับคล่องแคล่ว (Competent English)

อยากให้แฟนคลับคุณหมอวีซ่า ให้การเอาใจใส่ต่อเงื่อนไขต่างๆ ที่ติดมาหลังได้รับอนุมัติวีซ่า 491 ซึ่งได้แก่ (โปรดตระหนักไว้ว่าการทำผิดเงื่อนไขข้อใดข้อหนึ่ง อาจทำให้วีซ่าของท่านถูกเพิกถอน และข้ามไปไม่ถึงฝั่งถือวีซ่าถาวร หรือ PR 191 นะคะ)

8515 – ห้ามหมั้น แต่งงาน หรือกินอยู่กับคู่ครองฉันท์สามีภรรยา ก่อนเดินทางเข้าออสเตรเลีย โดยไม่แจ้งทางอิมฯล่วงหน้า

8578 – ต้องแจ้งให้อิมมิเกรชั่นทราบภายใน 14 วัน ทุกครั้งที่มีการเปลี่ยนแปลงรายละเอียดของพาสปอร์ต หรือที่อยู่ เบอร์โทร อีเมล
ที่ทำงาน เป็นต้น

8579 – ต้องอาศัยอยู่ เรียนหนังสือ และทำงานอยู่ในเขตภูมิภาคที่ระบุเข้าไปในใบสมัครขอวีซ่าเท่านั้น

8580 – หากอิมมิเกรชั่นจดหมายมาขอรายละเอียดที่อยู่ ที่ทำงาน หรือที่เรียน ต้องให้ความร่วมมือแจ้งพร้อมแสดงหลักฐานที่เกี่ยวข้องภายใน 28 วัน

8581 – ต้องให้ความร่วมมือในการเข้าไปสัมภาษณ์ หากอิมมิเกรชั่นมีจดหมายมาเชิญให้ไปสัมภาษณ์

วีซ่าตัวที่ 2: วีซ่าทักษะชั่วคราวแบบมีนายจ้างในเขตภูมิภาคเป็นสปอนเซอร์ 494 ( Skilled Sponsored Provisional Regional 494 Visa)


วีซ่าหน่อน้อง 494 ตัวนี้ มีสองแบบด้วยกันคือ

  • แบบมีนายจ้างที่เปิดธุรกิจร้านค้าในเขตภูมิภาค (ที่ไม่ใช่เมืองหลัก ซิดนีย์ เมลเบิร์น หรือ บริสเบน) เป็นสปอนเซอร์ให้ไปทำงานให้เขา (Employer Sponsored stream) เนื่องจากนายจ้างหาคนทำงานในท้องถิ่นไม่ได้
  • หรืออีกแบบหนึ่งคือ ผ่านสนธิสัญญาการว่าจ้างแรงงานที่ได้ตกลงทำไว้กับรัฐบาลออสเตรเลีย ที่เรียกว่า Labour Agreement stream

สำหรับวีซ่า 494 ตัวนี้จะแตกต่างกับวีซ่าคู่ขา 491 ตรงที่จะต้องมีนายจ้างในเขตภูมิภาคเป็นสปอนเซอร์ให้ในสายอาชีพที่มีระบุไว้ใน Skilled Occupation List สำหรับวีซ่า 494 โดยเฉพาะ และจะต้องมีการจ่ายค่าธรรมเนียมสมทบทุนฝึกอบรมเสริมสร้างทักษะให้กับราษฎรของออสเตรเลียที่เรียกว่า Skilling Australians Funds (SAF) ทุกปี

ผู้ยื่นยังต้องมีอายุต่ำกว่า 45 ปี ณ เวลาที่ยื่นเรื่อง (มีข้อยกเว้นจำกัด) ผ่านการสอบภาษาอังกฤษได้ในระดับ IELTS 6 หรือ PTE, TOEFL or Advanced Cambridge ในระดับเทียบเท่า และจะต้องผ่านการประเมินทักษะจากหน่วยงานการประเมินวุฒิและประสบการณ์ตามที่รัฐบาลกำหนด ยกเว้นเสียแต่ในกรณีต่างๆดังต่อไปนี้:

  • ได้เคยผ่านการประเมินวุฒิโดยองค์กรประเมินฯตามที่รัฐบาลกำหนดภายใน 3 ปีที่ผ่านมา โดยในเอกสารรับรองนั้น จะต้องระบุว่า
    ใบรับรองวุฒินั้น มีอายุใช้ได้เพียง 3 ปี หรือ
  • ผู้ถึอวีซ่าทำงาน 457 หรือ 482 ที่เคยผ่านการประเมินวุฒิมาก่อนแล้วว่ามีความเหมาะสมในการประกอบอาชีพนั้นๆได้ และ
  • การประเมินวุฒินั้น จะต้องไม่ใช่เป็นการประเมินวุฒิเพื่อการยื่นวีซ่า 485 (Temporary Graduate Visa) และ
  • หากเป็นวุฒิที่จบในออสเตรเลียสำหรับนักศึกษานานาชาติ วุฒินั้นจะต้องเรียนจบมาจากการเรียนในหลักสูตรที่ผ่านการขึ้นทะเบียน (Registered course) มาเท่านั้น

อีกข้อหนึ่งที่พึงตระหนัก ก็คือหากนายจ้างหรือรัฐบาลสปอนเซอร์เราในอาชีพสายใดสายหนึ่งจนเราได้วีซ่าไปแล้ว ก็ต้องประกอบอาชีพตามสายที่แจ้งไว้ ห้ามเปลี่ยนอาชีพ เพราะจะถือว่าไม่มีความตั้งใจจริง ไม่สมควรที่จะได้รับวีซ่าตัวนี้ ดังนั้นจึงอาจเป็นเหตุให้วีซ่าถูกยกเลิกได้ภายใต้มาตรา 116 ของพระราชบัญญัติตรวจคนเข้าเมืองของออสเตรเลียได้

และแน่นอนผู้สมัครต้องผ่านการตรวจร่างกายและสันติบาล และไม่เคยถูกปฏิเสธหรือถูกเพิกถอนวีซ่ามาก่อน หากมีการติดหนี้สินไว้กับทางรัฐบาลออสเตรเลีย ก็ต้องชดใช้ให้หมดสิ้นเสียก่อน และหากมีอายุเกิน16 ปี วีซ่าจะออกได้ก็ต้องเซ็น Australian values statement ก็คือยินดีรับในเงื่อนไขของการเป็นราษฎรที่ดีคนหนึ่งของประเทศหลังเข้ามาอาศัยอยู่ที่นี่แล้ว

วีซ่า 494 ตัวนี้สามารถยื่นจากภายในหรือนอกประเทศออสเตรเลียก็ได้ ค่าธรรมเนียมยื่นวีซ่าอยู่ที่ AUD4,045 โดยทางอิมมิเกรชั่นยังไม่มีการกำหนดเวลาว่าจะใช้เวลาพิจารณาวีซ่านานเท่าไหร่

อนึ่ง สำหรับวีซ่าถาวร (PR) ประเภท Subclass 191 นั้น ยังไม่ผุดเกิดจนกระทั่ง วันที่ 16 พฤศจิกายน 2022 ก็คือตอนที่สองหน่อพี่น้อง 491 กับ 494 กลุ่มนี้มีอายุครบ 3 ขวบและพร้อมที่จะข้ามฝั่งไปเป็นราษฎรถาวรของออสเตรเลียนะคะ

ก่อนจะจบบทความในวันนี้ คุณหมอวีซ่าขอชี้แจงถึงการเปลี่ยนแปลงในคำจำกัดความของ คำว่า เขตภูมิภาคตามกำหนด หรือ Designated Regional Area ที่รัฐบาลออสเตรเลียเคยกำหนดให้เขตภูมิภาคตามกำหนดนั้น หมายถึง เขตพื้นที่ของประเทศออสเตรเลียทุกแห่ง ยกเว้นเขตชุมชนหนาแน่นที่ Sydney, Melbourne, Brisbane, Perth กับ Gold Coast ที่เรียกชื่อเป็น Major Cities นั้น ปัจจุบัน รัฐบาลได้ประกาศยก Perth and Gold Coast ให้แยกออกให้ไปอยู่กลุ่มเดียวกันกับ Designated Regional Area แล้ว  ดังนั้น กฎหลังวันที่ 16 November 2019 คำว่า “Major Cities” จะหมายถึงเพียงแค่เมือง “Sydney, Melbourne and Brisbane” เท่านั้นนะคะ แล้วท่านผู้อ่านลองปิดตานึกภาพหัวเมืองต่างๆเช่น Perth, Gold Coast, Canberra, Adelaide, Hobart, Darwin เป็นต้นว่าเจริญก้าวหน้ามากเพียงใด ไม่ได้เป็นบ้านนอกอย่างที่หลายคนเข้าใจกันผิดๆเลยนะคะ จึงจะเห็นได้ว่าการไปเรียนหนังสือ อาศัยอยู่ และทำงานในเขตภูมิภาคตามที่รัฐบาลกำหนดนั้น
ไม่ได้เป็นการไปใช้ชีวิตอย่างลำบากเลย วีซ่าทั้งสองตัวนี้ คุณหมอวีซ่าจึงเห็นว่าเป็นการเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดีที่น่าสนใจเป็นอย่างยิ่งค่ะ

เมื่อมีการประกาศกฎเกณฑ์วีซ่าอะไรมาใหม่ๆ นอกจากจะเอามาเขียนเป็นบทความให้แฟนๆคลับคุณหมอวีซ่าได้อ่านเพลิดเพลินแถมได้ความรู้ที่ถูกต้องไปแล้วนั้น  ทีมงานคุณหมอวีซ่ายังจะเรียกร้องให้คุณหมอวีซ่าอภิปรายในสัมมนาให้ทุกท่านที่อยากทราบรายละเอียดเข้ามาฟังได้ เพื่อสนองตามคำเรียกร้องของแฟนคลับจากกรุงเทพฯที่ขอเข้ามา คุณหมอวีซ่าจึงจะเดินทางกลับมาเมืองไทยเพื่อทำสัมมนาด้วยหัวข้อวีซ่าสองหน่อพี่น้อง 491 กับ 494 โดยเฉพาะ ในวันสัมมนา ยังจะมีการให้แง่คิด และการมองภาพในอนาคตของผู้ที่สนใจ กำลังจะลงทะเบียนไปเรียนต่อที่ออสเตรเลียว่า จากวันนี้ถึงวันนั้นที่เราสำเร็จ ต้องวางแผนการเรียนอย่างไร เรียนวิชา สายอาชีพใดจึงจะสามารถข้ามฝั่งไปได้ตามกฎเกณฑ์อย่างถูกต้องตามกฎหมายและข้อกำหนดที่รัฐบาลออสเตรเลียประกาศออกมา เป็นต้น อย่าลืมว่า หากเราวางแผนการเรียนให้ถูกต้องเสียแต่เนิ่นๆก่อนเดินทางเข้าไปเรียนที่ออสเตรเลีย เรียนจบเมื่อไหร่ เราสามารถขอวีซ่าทำงาน Post Study Work visa subclass 485 ในเขต Designated Regional area นี้ต่อได้อีก 3-4 ปีมากกว่าผู้ที่จบจาก Major Cities ที่ได้วีซ่าทำงานต่อหลังเรียนจบเพียงแค่  2 ปีเท่านั้นนะคะ

แต่ด้วยความที่ใกล้ปีใหม่ คุณหมอวีซ่าก็เลยให้แฟนๆคลับไปฉลองปีใหม่กันก่อน โดยไม่ต้องมาเครียดเรื่องเรียนต่อเรื่องวีซ่าใหม่นี้กันก่อนนะคะ ปีใหม่ผ่านไปแล้ว ก็รีบจองกันเข้ามาฟังสัมมนาอภิปราย ฟรี โดยคุณหมอวีซ่าโดยตรง ในวันเสาร์ที่ 1 February 2020 จัดที่ห้องประชุมของ CP Bangkok ที่ชั้น 9 อาคารพหลโยธินเพลส (สถานีรถไฟฟ้าอารีย์ นะคะ) ถึงเวลาก็จองกันผ่านโทรศัพท์ที่เบอร์ CP Bangkok office 66-2-278-1236  หรือผ่าน Facebook: CP International,  www.cpinternational.com  หรือ Line: @cpinter ช่องทางติดต่อมีเยอะค่ะ รายการโปรโมชั่นดีๆอย่างดี อย่าพลาดนะคะ

ด้วยความปรารถนาดี

จาก คุณหมอวีซ่า

และอีกรายการดีๆที่ CP Bangkok กำลังจะมีขึ้น ก็คืองาน CP World English Fair ที่จะจัดขึ้นในวันเสาร์ที่ 14 December 2019 นี้ที่ CP Bangkok ชั้น 9 อาคารพหลโยธินเพลส (สถานีรถไฟฟ้าอารีย์) วางแผนการเรียนเสริมทักษะภาษาอังกฤษกันเนิ่นๆล่วงหน้า โดยมาคุยกับตัวแทนเจ้าหน้าที่สถาบันที่เป็นที่เชื่อถือได้โดยตรง เพื่ออนาคตที่เที่ยงแท้แน่นอน สดใสกว่าใครเพื่อนค่ะ ลงทะเบียนเข้าร่วมงานกรอกรายละเอียดด้านล่างได้เลยจ้าา