Dr Visa Article – 1 November 2018

“Can I become an Australian citizen and hold dual citizenships -Thai and Australian, at the same time?”

สวัสดีค่ะ แฟนๆคุณหมอวีซ่าทุกท่านคะ วันนี้ขอเชิญชวนให้สมาชิกแฟนคลับมาเกาะเข่าคุยกันเรื่องของ Global Citizens หรือการเป็นประชากรชาวโลกของเด็กยุคนี้กันดีกว่าค่ะ หัวข้อวันนี้เป็นที่ติดตามอย่างใกล้ชิดและเป็นที่สนใจของคนสมัยนี้กันมาก บางครั้งไม่ใช่เฉพาะแต่ชนรุ่นใหม่ที่สอบถามเข้ามาเท่านั้น หากแต่เป็นคุณพ่อคุณแม่ยุคใหม่ที่ให้การเอาใจใส่ วางแผนให้ลูกถือสัญชาติต่างประเทศเพิ่มอีก 1-2 สัญชาติโดยไม่ทิ้งสัญชาติไทย นอกจากจะเพื่อความสะดวกในการเดินทาง เรียนต่อของพวกเขาโดยไม่ต้องยื่นขอวีซ่าเข้าออกต่างประเทศนั้นๆยุ่งยากทุกครั้งที่จะเดินทางไปเที่ยวหรือทำวีซ่านักเรียนเมื่อถึงวัยเติบโตเข้าเรียน หากแต่ ที่สำคัญยังเพื่อประสงค์ของการให้ลูกได้มีโอกาสอาศัยอยู่ในต่างประเทศที่มีการพัฒนาสูงแล้ว เพื่อสวัสดิการที่ดีกว่า การแพทย์ที่เจริญรุดหน้ากว่า คุณภาพทางการศึกษาและคุณภาพชีวิตที่ดีกว่า สังคมที่เป็นระเบียบกว่า ท่ามกลางประชาชนที่รู้จักเคารพกฎหมายและสิทธิของกันและกัน ท่ามกลางเสียงที่เงียบกว่า หรือแม้กระทั่งเพื่อให้ลูกได้สูดอากาศที่ไม่เป็นพิษอยู่ทุกวันของความเป็นอยู่ ซึ่งบางสิ่งเหล่านี้ ถึงจะมีเงินก็ซื้อกันไม่ได้ นั่นเอง…. อ่านต่อเหอะ คุ้มค่ะ

เอาเป็นว่า ไม่ต้องเล๊งถึง 3 สัญชาติหรอก วันนี้คุณหมอวีซ่าขอพูดถึงเรื่อง Dual-Citizenship แค่สองสัญชาติ เอาให้ได้ก่อนนะคะ และจากการที่ตนเองได้ถือทั้งสัญชาติไทย (Thai) กับสัญชาติออสเตรเลีย (Australian) มาก็เกิน 36 ปีแล้ว และก่อนบินกลับ Sydney เที่ยวนี้ ก็ได้มีโอกาสคุยกับเพื่อนชาวญี่ปุ่นที่เจอกันที่ Gym ที่กรุงเทพฯ ซึ่งได้แต่งงานกับสามีชาวมาเลย์เซีย มีบุตรสาววัยรุ่นเรียนอยู่โรงเรียนอินเตอร์ที่เมืองไทย คุณพ่อคุณแม่เองเคยทำเรื่องอพยพโยกย้ายถิ่นฐานไปตั้งหลักแหล่งที่ประเทศ Canada ในเขตปริมณฑลทางภาคเหนือของแคนนาดามาก่อน แต่ทนอากาศอันหนาวเยือกเย็นเป็นยิ่งไม่ไหว เลยขอมาอยู่ที่ประเทศไทย โดยคุณพ่อได้งานและทำเรื่องโอนสัญชาติเป็นคนไทยได้เรียบร้อยโดยยอมทิ้งสัญชาติมาเลย์ไป ส่วนคุณแม่ก็ยังรักชาติ ถือสัญชาติญี่ปุ่นไปโดยไม่โอนเป็นคนไทย สำหรับลูกสาวนั้น ก็เลยได้ถือสัญชาติญี่ปุ่นไปด้วย แต่ตอนนี้ คุณพ่อคุณแม่ได้ไปเยือนออสเตรเลียมา และชอบมากๆ จึงสนใจจะให้ลูกได้ไปเรียนไปอาศัยอยู่ที่ออสเตรเลียจนได้สัญชาติที่นั่น

อีกรายหนึ่งที่จู่ๆก็เดินเข้ามาออฟฟิศคุณหมอวีซ่าที่อาคารพหลโยธินเพลส ทำงานเป็นผู้บริหารทางการเงินชั้นสูงของธนาคารดังแห่งหนึ่งในประเทศไทย เป็นผู้มีความรู้ความสามารถมาก จบมาจากอเมริกามา และได้เริ่มเดินเรื่องว่าอยากจะอพยพโยกย้ายถิ่นฐานไปอยู่แคนนาดาเช่นกัน แต่พอดีพาลูกเมียไปเที่ยวเมลเบิร์นที่ออสเตรเลียมา เกิดหลงสเน่ห์รักชอบเมืองนี้ที่ได้รับโหวตเป็นนครที่น่าอยู่ที่สุดในโลกมาเกือบ 10 ปีซ้อนแห่งนี้เข้าเสียแล้ว เลยหันเข็มวางแผนจะโยกย้ายไปอยู่ออสเตรเลียกันทั้งครอบครัว ทั้งนี้ ท่านว่าเพื่ออนาคตชีวิตที่ดีกว่าของลูกๆ กับความสะดวกที่ถือสองสัญชาติ เดินทางไปมาเมืองไทย-ออสเตรเลียได้อย่างสะดวกสบาย ระยะการบินก็ไม่ไกลเท่ายุโรปหรืออเมริกา บินกัน 6-8 ชั่วโมงก็ถึงกันได้ แถมที่ออสเตรเลียอากาศไม่หนาวเยือกเย็นมากเท่าทางแคนนาดา หรือยุโรป ทั้งๆที่เทียบเรื่องสวัสดิการสังคมกับการรักษาทางการแพทย์แล้ว ระบบของแคนนาดากับออสเตรเลียก็สูสีกัน คนไทยเราจะทนไม่ได้ก็ตรงที่ต้องเดินลุยหิมะในฤดูหนาว จนมือไม้แข็งขาเย็นชาไปหมด การทำกิจกรรมธุรกิจธุรกรรมนอกบ้านก็ไม่สะดวกเอาซะเลย เอาตามที่ท่านเล่ามานะคะ

เพื่อนๆของลูกๆคุณหมอวีซ่าสมัยนี้ที่เกิดที่ออสเตรเลีย บางคนก็ถือตั้งสามสัญชาติ อย่างเพื่อนชาวฮ่องกงที่มาตั้งหลักแหล่งที่ออสเตรเลีย ก็ถือทั้งสัญชาติฮ่องกง ออสเตรเลีย กับแคนนาดา ส่วนพี่ชายเขาแต่งกับภรรยาชาวอเมริกัน ก็ถืออเมริกันเพิ่มอีกหนึ่งสัญชาติ เห็นแล้วยังคะว่าคนสมัยนี้มีวิสัยทัศน์ที่ยาวไกลมาก การเป็นประชากรของโลก หรือ global citizen นั้นหมายถึง ทั้งโลกนี้เป็นบ้านของเขา ไม่ใช่แต่เพียงประเทศใดประเทศหนึ่งเท่านั้น การเดินทางข้ามไปๆมาๆระหว่างประเทศก็เป็นการเรียนรู้ ทำให้เด็กเป็นคนฉลาด ทันคน ปรับตัวเข้าได้กับทุกสภาพแวดล้อมก็ว่าได้

แต่ด้วยความที่คุณหมอวีซ่าเป็นที่ปรึกษาที่เชี่ยวชาญเรื่องวีซ่ากฎหมายเข้าเมืองของประเทศออสเตรเลีย เนื่องจากเป็น Australian Registered Migration Agent หรือ RMA ที่ขึ้นทะเบียนมากว่า 20 ปีแล้ว จึงขอพูดเรื่องของการขอสัญชาติออสเตรเลียให้แฟนๆท่านผู้อ่านฟังนะคะ ก่อนอื่นคุณหมออยากจะขอเกริ่นก่อนว่า การถือสองสัญชาติทั้งไทยและออสเตรเลียนั้น เป็นสิ่งที่ทำได้ไม่ผิดกฎหมายแต่อย่างใดนะคะ อย่างตัวคุณหมอวีซ่าเอง ก็ถือพาสปอร์ตสองเล่มไปพร้อมๆกัน ไม่เคยปล่อยให้เล่มใดเล่มหนึ่งขาดค่ะ บัตรประชนไทยก็ต่ออายุก่อนหมดอายุทุกครั้ง ใบขับขี่ออสเตรเลีย (ที่แทบจะเรียกว่าใช้แทนบัตรประชนของออสเตรเลียก็ว่าได้) ก็ไม่เคยปล่อยให้ขาด เวลาออกจากสนามบินออสเตรเลีย ก็ออกด้วยพาสปอร์ตออสฯ เวลาเข้าไทย ก็เข้าด้วยพาสปอร์ตไทยโดยจะอยู่กี่นานก็ไม่ต้องขอวีซ่า ขาออกประเทศไทย ก็ออกด้วยพาสปอร์ตไทย ขาเข้าออสเตรเลีย ก็เข้าด้วยพาสปอร์ตออสฯ ทำอย่างนี้มาโดยตลอด จึงยืนยันด้วยตนเองได้ว่าปลอดภัยทำได้แน่นอนค่ะ

การขอสัญชาติออสเตรเลีย (Australian Citizenship) นั้น มีหลายวิธีมากๆ หากไม่แน่ใจ พึงปรึกษาผู้รู้กฎหมายจะได้ไม่เดินผิดทางจนพลาดนะคะ อย่างอาทิตย์ที่แล้ว คุณหมอวีซ่าดีใจมากที่มีโอกาสช่วยเซ็นสลักหลังรูปในฐานะเป็นผู้พิพากษาสมทบ หรือ Justice of the Peace (JP) ที่ได้เห็นหน้าน้องแอปเปิ้ล (นามสมมุติ) มากว่าปีแล้ว เพื่อช่วยน้องยื่นขอพาสปอร์ตออสเตรเลียให้หลังจากที่ยื่นขอสัญชาติออสเตรเลียให้น้องจนสำเร็จ ทั้งๆที่เคสน้องไม่ธรรมดาเลย เนื่องจากน้องมาคลอดที่เมืองไทย และอยู่กับคุณแม่ที่ถือเพียงสัญชาติไทย ไม่ได้เป็น PR หรือผู้ถือถิ่นฐานถาวรของออสเตรเลียแต่อย่างใด ส่วนเจ้าคุณพ่อของน้อง ท่านก็ได้เสียชีวิตไปตั้งแต่น้องยังเด็กมากแล้ว เป็นเคสที่ไม่มีคุณพ่อที่ถือสัญชาติออสเตรเลียเซ็นเป็นสปอนเซอร์ให้น้อง คุณแม่เองเผอิญได้พบกับเพื่อนคนไทยใจดีตอนไปเที่ยวซิดนีย์ที่แนะนำให้มาพบกับคุณหมอวีซ่าเพื่อหาทางออกให้ลูก และแน่นอน คุณหมอวีซ่าก็ได้อ้างอิงตัวบทกฎหมายที่เรียนอ่านมา ทำเรื่องจนน้องได้เป็น Aussie น้อยเรียบร้อย ตอนนี้ ก็กำลังจะเดินทางไปเรียนหนังสือที่โน่นแระ ขอแสดงความยินดีกับน้องและคุณแม่ด้วยนะคะ อันดับต่อไป คุณหมอวีซ่าก็จะช่วยให้ คุณแม่ได้ไปอยู่ถาวรกับลูกที่นั้นด้วยอีกคนแล้วค่ะ คุณหมอวีซ่าชอบ happy ending ค่ะ

สำหรับเด็กรุ่นเล็กนั้น วิธีการได้มาซึ่งสัญชาติออสเตรเลียอย่างเช่นของน้องแอปเปิ้ลนั้น ก็ด้วยขบวนการทางกฎหมายที่เรียกว่า Citizenship by Descent ก็คือมีพ่อหรือแม่คนใดคนหนึ่งถือสัญชาติออสเตรเลีย ซึ่งเด็กที่เกิดมาตอนอยู่นอกประเทศออสเตรเลียก็จะมีสิทธิได้รับสัญชาตินั้นโดยอัตโนมัติ แต่ต้องทำเรื่องยื่นขอพิสูจน์กันเข้าไปอย่างถูกต้อง ในบางกรณีก็อาจต้องมีการทำ DNA แล้วแต่สถานทูตจะพิจารณาและเห็นสมควร

อีกวิธีหนึ่งคือ Citizenship by adoption หรือการรับบุตรบุญธรรม แต่วิธีนี้จะค่อนข้างซับซ้อนและยุ่งยากเนื่องจากต้องทำตามสนธิสัญญาที่เรียกว่า The Hague Convention หรือ Intercountry Adoption

ส่วนวิธีที่ผู้คนได้สัญชาติออสเตรเลียกันโดยวิธีปกติทั่วไป ก็เห็นจะไม่พ้น การข้ามฝั่งจากการขอโยกย้ายถิ่นฐานด้วยวีซ่าถาวรที่เรียกว่า apply เป็น Permanent Resident หรือ PR ก่อน แล้วจึงข้ามฝั่งไปขอเพิ่มอีกหนึ่งสัญชาติ คือ สัญชาติออสเตรเลียหลังอยู่ออสเตรเลียครบตามเงื่อนไขที่รัฐบาลกำหนด ที่เรียกว่า Migration with Permanent Residence ซึ่งก่อนวันที่ 1 July 2018 มีผู้เข้ามาให้ทีมงานคุณหมอวีซ่าจากทุกออฟฟิศช่วยยื่น citizenship ให้กันมาก โดยเฉพาะที่ CP Melbourne Office รับทำเคส Australian citizenship กันอยู่แทบทุกวันก็ว่าได้ เพราะปัจจุบัน กฎหมายใหม่ที่กำหนดให้ผู้ถือวีซ่าถาวรที่จะขอ Australian Citizenship ได้นั้น จะต้องถือ PR อยู่ในประเทศออสเตรเลียมาเป็นเวลา 4 ปี และไม่ได้อยู่นอกออสเตรเลียเกิน 12 เดือนในช่วงเวลา 4 ปีนั้น อีกทั้งห้ามออกนอกประเทศออสเตรเลียเกิน 90 วันภายใน12 เดือนก่อนยื่นเรื่อง แถมมีการเข้มงวดเรื่องต้องได้ผลสอบภาษาอังกฤษให้ได้ระดับเทียบเท่า IELTS 6 อีก จึงเรียกว่ากฎหมายโน้มเอียงไปในแนวที่ยากขึ้น หากท่านผู้อ่านอยากอ่านเพิ่มเติม ก็คลิกเข้าไปที่นี่เลยนะคะ https://www.homeaffairs.gov.au/trav/citi/curr/even/why-/quick-guide-to-australian-citizenship

การข้ามฝั่งในลักษณะแบบนี้ ก็รวมผู้ถือ PR ที่เป็นคู่ครองของชาวออสเตรเลียด้วยเช่นกัน

ย้ำอีกครั้งว่า เมื่อมาถึงขั้นตอนที่จะขอ Citizenship หากหลายคนยังอาจจสงสัยว่าเอ๊ะ เราสามารถถือ 2 สัญชาติในเวลาเดียวกันได้ไหม ซึ่งคำตอบก็คือ ได้ค่ะ ทางกฏหมายของประเทศออสเตรเลียอนุญาตให้ประชาชนถือ 2 สัญชาติพร้อมกันได้ ซึ่งกฎนี้พึ่งได้มีการปรับเปลี่ยนเมื่อวันที่ 2 เมษายน คศ. 2002 ซึ่งหมายความว่า ตอนก่อนวันที่ 2 เมษายน ค.ศ.2002 ประชากรชาวออสเตรเลียจะไม่สามารถถือ 2 สัญชาติพร้อมกันได้ แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นก็ต้องขึ้นอยู่กับแต่ละประเทศอื่นๆว่าเค้ากำหนดให้ถือสองสัญชาติได้ไหม เช่น ประเทศจีน ญี่ปุ่น สิงคโปร์ มาเลย์เซีย ไม่อนุญาตให้ราษฎรของเขาถือสองสัญชาติ ต้องเลือกเอาเพียงหนึ่งสัญชาติเท่านั้น เรียกว่าคนไทยเราโชคดีนะคะ

การได้รับ Australian Citizenship เป็นผลกำไรของชีวิตอย่างฝุดๆ เนื่องจากเราสามารถใช้สิทธิต่างๆของรัฐ เช่น ค่ารักษาพยาบาลฟรีโดยการได้บัตร Medicare มา และสามารถถือพาสปอร์ตของออสเตรเลียได้อีกเล่มหนึ่ง พาสปอร์ตออสเตรเลียมีข้อดีตรงที่เราสามารถเข้าออกประเทศหลายประเทศได้โดยที่ไม่ต้องขอวีซ่าเลยยุ่งยากเท่าพาสปอร์ตไทย อย่างเช่นไป USA, EU เป็นต้น

ก่อนจากกันไปวันนี้ คุณหมอก็มีข่าว update มาบอกว่า ตอนนี้คุณหมอวีซ่าได้บินกลับมาถึงที่ออสเตรเลียเรียบร้อยแล้วนะคะ ใครที่อยากจะจองเข้ามา consult กับคุณหมอวีซ่าที่ Sydney ก็ต้องรีบๆกันหน่อย ตอนนี้คิวแน่นกันไปยาวๆ ทั้งแบบเข้ามาปรึกษาหรือผ่าน VDO ก็ได้เลยค่ะ จองกันล่วงหน้าตั้งแต่คุณหมอวีซ่ายังอยู่ไทยแหน่ะ ส่วนคนที่อยู่ประเทศไทยก็ไม่ต้องกังวลนะคะ เราสามารถทำ VDO consultation กันได้เสมอ เทคโนโลยีสมัยนี้ดีจริงๆค่ะ ช่วยให้เราไม่รู้สึกว่าอยู่ห่างจากกันเลยค่ะ

สำหรับวันนี้ก็ขอลากันไปตรงนี้ก่อนนะคะ ก่อนจบ คุณหมอวีซ่าขอนำข่าวดีๆจากทีม Marketing ของเรามาฝาก กิจกรรมดีๆที่จัดโดย CP International อย่าลืมมาร่วมกันสนับสนุนเพื่อนาคตที่ดีของเราเองนะคะ และอย่าลืมรักษาสุขภาพกันด้วยนะคะ ยิ่งช่วงนี้อากาศเปลี่ยนแปลงบ่อยมากๆ ลมเย็นๆของฤดูหนาวก็เริ่มมาแล้ว ไว้เจอกันเดือนหน้านะคะ บ๊ายบายค่ะ

สำหรับน้องๆคนไหนที่สนใจอยากไปเรียนที่วิทยาลัย TAFE ที่รัฐQueensland น้องๆสามารถมาเข้าร่วมงานสัมมนา พูดคุยหรือสอบถามข้อมูลกับเจ้าหน้าที่จากสถาบันโดยตรงได้เลย ในวันเสาร์ที่ 17 พฤศจิกายนนี้ เวลา 13:00-15:00น. อย่าลืมลงทะเบียนกันมาล่วงหน้าตามลิงค์ด้านล่างนี้นะคะ

https://zurl.co/L1e9

หากมีข้อสงสัยเกี่ยวกับงาน สามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่เบอร์ 02-278-1236
หรือแอดไลน์ @cpinter มากันได้เลย พี่ๆเจ้าหน้าที่ใจดีกันทุกคนค่ะ

มีคำถามเกี่ยวกับการสมัครหรือสถานะวีซ่าออสเตรเลียของคุณ? ต้องการสมัครเพื่อศึกษาต่อ ทำงาน หรืออาศัยอยู่ในออสเตรเลีย? สามารถขอคำแนะนำจากทีมคุณหมอวีซ่าได้ที่: