Dr Visa Article – 29 March 2020

Coronavirus มีผลต่อวีซ่าและการเข้าออกประเทศออสเตรเลียอย่างไรบ้าง?


ช่วงนี้เป็นช่วงที่ลำบากมากสำหรับผู้คนแทบทุกประเทศทั่วโลกจากการระบาดของโคโรน่าไวรัส หรือ โควิด19 ที่ไม่มีการเลือกชาติ ศาสนา ไม่เลือกเพศ อายุชั้นวรรณะ ฐานะรวยจน ผู้ดีมีสกุล มีตำแหน่ง หรือมีชื่อเสียงโด่งดังเพียงใดก็ตาม ล้วนมีโอกาสติดไวรัสที่กำลังโด่งดังไปก้องโลกตัวนี้ได้ทั้งนั้น คุณหมอวีซ่าจึงขอให้ทุกท่านจงดูแลสุขภาพของตนเองให้ดีๆ รักษาร่างกายให้แข็งแรงไว้เพื่อต่อต้านโรคร้ายที่เกิดจากไวรัสที่มวลมนุษย์ไม่คุ้นเคยตัวนี้ อย่างที่คุณหมอวีซ่าจะพูดเสมอว่าการจะทำอะไรก็ตาม ขอให้ “be sensible” คือว่ากันด้วยเหตุผลและความเหมาะสม อย่าเอาตัวเองไปอยู่ในสถานที่เสี่ยง อย่างเช่น ใครที่จองทัวร์ไปเที่ยวต่างประเทศที่เป็นประเทศเสี่ยงที่ใดก็ตาม ในช่วงนี้ อย่าไปเสียดายตัง หากยกเลิกทัวร์ได้ก็ยกเลิกเหอะ รักษาชีวิตไว้ในอนาคตก็ยังมีโอกาสเดินทางไปได้อีก และที่สำคัญ คุณหมอวีซ่าอยากฝาก 3 สิ่งให้ทุกคนร่วมมือกัน คือ “social responsibility” คือมีความรับผิดชอบต่อสังคมที่เราอาศัยอยู่ร่วมกัน “social distancing” คือช่วงนี้จะรักใครแค่ไหน ก็ไม่ต้องไปกอดจูบกัน แค่ทักทายอยู่ห่างๆกัน 2 เมตรได้ก็ยิ่งดี และ “Stay at Home!” คืออยู่กับบ้านเถอะนะคะ เนื่องจากผู้ป่วยด้วยไวรัส Covid-19 ครั้งนี้ ส่วนใหญ่จะไม่แสดงอาการออกมาในระยะแรกเริ่ม แต่สามารถส่งเชื้อต่อมาให้เราได้โดยไม่รู้ตัว ดังนั้น สื่อมากมายออกมาสอนว่าเราต้องปฏิบัติตัวอย่างไร เพื่อเป็นการป้องกันตนเองให้ดีที่สุดก็ทำตามเหอะ คุณหมอวีซ่าคงไม่เขียนซ้ำแล้ว เพราะเชื่อว่าท่านผู้อ่านทุกท่านก็คงจะโดนประโคมข่าวซะจนจะเป็นโรคประสาทไปซะก่อนจนไม่มีเวลาอ่านอะไรอย่างอื่นอีกแล้ว แต่จะเขียนเรื่องสำคัญที่เกี่ยวกับเรื่องผลกระทบของ Coronavirus ครั้งนี้ที่มีต่อวีซ่าและการเข้าออกประเทศออสเตรเลียเพื่อฝากไว้ให้เป็นประโยชน์ต่อท่านผู้อ่านที่เกี่ยวข้องซะมากกว่า โดยข้อความที่เขียนนี้ อัพเดท ณ วันที่เขียน คือ 28 มีนาคม 2020 นะคะ

 

เรื่องแรก – เกี่ยวกับข้อจำกัดการเดินทางเข้าออกออสเตรเลีย

เนื่องจากรัฐบาลออสเตรเลียได้ประกาศปิดชายแดนมาตั้งแต่วันที่ 20 มีนาคม 2020 ไม่ให้ชาวต่างชาติที่ไม่ได้เป็นผู้ถือวีซ่าถาวรหรือที่เรียกว่า PR หรือ Citizen กับครอบครัวคนใกล้ชิดของชาวออสเตรเลีย (ซึ่งรวมคู่ครองกับลูกๆที่ถือวีซ่า 309 หรือ 820 ด้วย) และชาวนิวซีแลนด์ที่ปกติพำนักอยู่ในประเทศออสเตรเลียเข้าประเทศ ต่อมายังขยายการสั่งห้ามไม่ให้ชาวออสเตรเลียเดินทางออกนอกประเทศ (ban travelling) ในวันที่ 23 มีนาคม 2020 นอกเสียจากจะมีเหตุจำเป็นอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้จริงๆ สำหรับข้อนี้ มีลูกค้าไลน์มาเล่าให้ฟังให้เห็นเป็นตัวอย่างจริงจังแล้วนะคะ กรณีนี้น้องเขาเป็น PR ของออสเตรเลีย เมื่อวันที่ 25 มีนาคม 2020 จะเดินทางกลับไทย อุตส่าห์ไปรบราแทบจะฆ่าฟันกันจนได้ตั๋วกลับไทยมา เช็คอินเข้าผ่านสายการบินแล้ว พอไปถึงจุดตรวจอิมมิเกรชั่นที่สนามบิน เจ้าหน้าที่ไม่ให้ผ่าน แจ้งว่า “เธอเป็น PR อยู่ออสเตรเลียมานานปีแล้ว เพราะฉะนั้นที่นี่เป็นบ้านของเธอ ไม่ต้องเดินทางออกไป” เสร็จแล้วก็ให้เจ้าหน้าที่คุมตัวส่งออกนอกประตูเลย น้องเขาเสียใจมาก เพราะทุกอย่างได้วางแผนไว้นานมาแล้ว


สำหรับสมาชิกครอบครัวที่ถือวีซ่าชั่วคราวประเภทอื่นๆที่ไม่ใช่เป็นวีซ่าคู่สมรส 309 หรือ 820 จะต้องถือใบพิสูจน์ความสัมพันธ์กับชาวออสเตรเลียตอนเดินทางเข้าประเทศออสเตรเลียติดมาด้วย เช่น ใบเกิด ใบทะเบียนสมรส ใบทะเบียนความสัมพันธ์ และกับคู่ที่เป็น de facto partner ก็ต้องพิสูจน์ด้วยใบเกิดของตนเอง ของลูกที่เกิดจากความสัมพันธ์กับชาวออสเตรเลีย สัญญาเช่าบ้านอยู่ด้วยกัน หรือหลักฐานการเงิน เช่นสมุดธนาคารชื่อร่วมที่แสดงที่อยู่เดียวกัน เป็นต้น สมาชิกครอบครัวใกล้ชิดเหล่านี้ จะต้องกรอกฟอร์มออนไลน์ตามลิงค์นี้และผ่านการอนุมัติเรียบร้อยก่อนถึงจะเดินทางเข้ามาที่ประเทศออสเตรเลียได้ (https://www.homeaffairs.gov.au/help-support/departmental-forms/online-forms/covid19-enquiry-form) สำหรับใครที่ถามถึงวีซ่าคู่หมั้น (Perspective Marriage Visa-SC300) ว่าเข้าได้ไหมนั้น ตอบเลยว่ายังไม่ได้เพราะจัดเป็นวีซ่าชั่วคราวค่ะ

 

หลังเดินทางมาถึงออสเตรเลีย

เมื่อวันที่ 27 มีนาคม 2020 รัฐบาลได้เพิ่มความเข้มงวดของกฎเกณฑ์จากการบังคับให้คนที่เดินทางเข้ามาจากต่างประเทศ จะต้องกักตัวเองที่บ้าน 14 วันเต็ม ที่เรียกว่า Self-isolation เปลี่ยนมาเป็น 14 days Quarantine ให้ไปพักตามโรงแรมต่างๆที่รัฐได้กำหนดไว้เป็นภาคบังคับ โดยลงจากเครื่องบิน ก็จะมีรถตำรวจคุมตัวส่งตรงไปที่โรงแรมเลยค่ะ (รัฐบาลออสเตรเลียเป็นคนออกค่าใช้จ่ายที่พักกับอาหารทั้ง 3 มื้อครบถ้วนนะคะ โชคดีจัง!)

ผู้ถือวีซ่าชั่วคราวประเภทอื่น (Temporary visa holders)

ปัจจุบันมีผู้ถือวีซ่าชั่วคราวในออสเตรเลียอยู่ที่ประมาณ 2.4 ล้านคน โดยในจำนวนนี้ มีผู้ถือวีซ่านักเรียนอยู่ประมาณ 500,000 คน ที่เหลือก็จะเป็นผู้ถือวีซ่าทำงานที่มีนายจ้างเป็นสปอนเซอร์ให้ เช่นวีซ่า 457หรือ 482 กับผู้ถือ Working Holiday 417 กับ Work and Holiday 462 เป็นต้น

ช่วง Covid-19 นี้ รัฐบาลมีความยืดหยุ่นให้ผู้ถือวีซ่านักเรียนสามารถทำงานเพิ่มเกินกว่า 40 ชั่วโมงต่อทุกสองสัปดาห์ได้ เพราะสถาบันหลายแห่งก็ประกาศปิดชั่วคราวจนกว่าสถานการณ์จะดีขึ้น

 


ส่วนกลุ่มผู้ถือวีซ่า 417 กับ 462 นั้น ปกติก็สามารถทำงานเต็มเวลาที่ไหนก็ได้ตลอดระยะเวลาของวีซ่าตั้งแต่ 1-3 ปีแล้วแต่เงื่อนไขของวีซ่าของแต่ละคนที่ได้มาจากแต่ละประเทศ เพียงแต่ยังต้องจำกัดทำงานให้นายจ้างที่เป็นสปอนเซอร์ให้เขาเพียงเจ้าเดียวได้แค่ 6 เดือน หากจะขอทำต่อเนื่องก็ต้องผ่านการอนุมัติของอิมมิเกรชั่นเสียก่อน เป็นต้น

ข้อจำกัดสำหรับกลุ่มผู้ถือวีซ่าชั่วคราวที่กำลังได้รับผลกระทบ

ก่อนที่รัฐบาลจะมีการประกาศข้อจำกัดเรื่องการเดินทางเข้าออกประเทศด้วยเหตุการแพร่ระบาดของโควิด-19 นั้น ผู้ที่ถือวีซ่าทำงานชั่วคราวบางตัว เช่น 457/482 ทั้งหลายสามารถเดินทางเข้าออกกี่ครั้งก็ได้ ตลอดช่วงระยะเวลาที่วีซ่ายังมีอายุอยู่ หลังการประกาศ รัฐได้สั่งห้ามผู้ถือวีซ่าชั่วคราวทั้งหลายซึ่งรวมทั้งนักท่องเที่ยวด้วยไม่ให้เดินทางเข้าประเทศออสเตรเลียอีก เป็นการปิดบอร์เดอร์ไปเลยก็ว่าได้ มีผลให้ผู้ที่ถือวีซ่าชั่วคราวทั้งหลาย ไม่ว่าจะเป็นประเภท 457, 482, 485 ฯลฯ ที่ได้เดินทางกลับบ้านไป holiday ที่ยังไม่ทันได้กลับเข้ามาออสเตรเลียกลับเข้ามายังไม่ได้ จนกว่าจะมีการเปิดบอร์เดอร์ แต่จะมีข้อยกเว้นเฉพาะให้กับบุคคลที่จะต้องใช้ทักษะในการช่วยเหลือเรื่องราวที่เกี่ยวกับโควิด-19 โดยดูเป็นแต่ละกรณีไป และสำหรับคนที่จะขอข้อยกเว้นจะต้องกรอกฟอร์มตาม link ดังกล่าวข้างต้น คือ (https://www.homeaffairs.gov.au/help-support/departmental-forms/online-forms/covid19-enquiry-form)

สวัสดิการและการดูแลสุขภาพสำหรับผู้ที่ขอวีซ่าอยู่ต่อเนื่องในออสเตรเลีย เนื่องจากไม่สามารถเดินทางออกนอกประเทศได้

ช่วงนี้รัฐบาลได้มีการประชุมกันถี่มาก และหนึ่งในหัวข้อคือ การพูดคุยถึงสวัสดิการพิเศษและค่าใช้จ่ายเงินช่วยเหลือที่จะให้กับผู้ที่ถือวีซ่าชั่วคราวที่จะขอต่อวีซ่าอยู่เพิ่มในออสเตรเลียเนื่องจากตกงานและยังไม่สามารถเดินทางกลับบ้านได้ (โดยไม่ได้เป็นความผิดของพวกเขาเอง) เพราะนายจ้างเลิกจ้าง หรือต้องปิดกิจการไป แต่ยังไม่ได้มีข้อตกลงแน่ชัดว่าจะให้ความช่วยเหลือในลักษณะแบบไหนบ้าง ก็ขอให้ทุกท่านติดตามข่าวอย่างใกล้ชิดได้ที่เว็บไซต์ของรัฐบาลออสเตรเลียที่ website: https://www.australia.gov.au/  และ website ของอิมมิเกรชั่นที่ : https://www.homeaffairs.gov.au/ 


การเลิกจ้างงาน

ในช่วงแห่งความวุ่นวายนี้ ผู้ที่ถือวีซ่าชั่วคราวจะค่อนข้างเสียเปรียบ เพราะอาจจะโดนเลิกจ้างงานได้ตลอดเวลาใดก็ได้ เนื่องจากรัฐบาลเองก็มีการประกาศให้ปิดกิจการหลายอย่างเป็นภาคบังคับ อย่างเช่นร้านอาหาร ภัตตาคาร ร้านกาแฟ nightclub pub ยิม โรงภาพยนตร์ โบสถ์ วัด พิพิธภัณฑ์ต่าง ๆ หรือในสถานที่ที่มีคนชุมนุมกันอย่างชุกชุม ดังนั้นธุรกิจหลายแห่งก็ไม่สามารถประคองธุรกิจให้อยู่รอดต่อไปได้ บางแห่งก็ปิดอย่างชั่วคราว จึงมีคำว่า “standing down” ซึ่งหมายความว่าพนักงานจะต้องถูกหยุดพักงานแล้วก็ไม่ได้รับค่าจ้างตลอดระยะเวลาที่ร้านปิดชั่วคราวโดยไม่มีรายได้เข้ามา จนกว่าเศรษฐกิจจะกลับมาเป็นปกติอีกครั้ง ธุรกิจที่ไม่โดนสั่งปิดจะได้แก่ธุรกิจที่มีความจำเป็นต้องเปิดให้บริการ ได้แก่พวกซุปเปอร์มาร์เก็ต ร้านขายของสะดวกซื้อ ปั๊มน้ำมัน ร้านขายยา สถานบริการสาธารณสุข โรงพยาบาล ร้านทำผม และโรงเรียนในบางรัฐ เป็นต้น แต่ก็ต้องใช้มาตรการยืนห่างจากกันอย่างน้อย 1.5 เมตร

ผลกระทบจากการที่ธุรกิจปิดตัว หรือปิดชั่วคราว และพนักงานจะต้องถูกเลิกจ้าง

สำหรับผู้ถือวีซ่านักเรียน หรือ Work and Holiday visa ก็คืออาจจะตกงานและไม่มีรายได้ แต่ยังมีวีซ่าอยู่ได้ หางานใหม่ได้ ที่น่าเป็นห่วงคือผู้ที่ถือวีซ่า 457/482 และผู้ติดตามทั้งหลาย ถ้าหากว่าธุรกิจเกิดปิดตัวลง ก็จะตกงานและไม่มีรายได้จากการเลิกจ้างอย่างถาวร หรืออย่างชั่วคราวก็ตามแล้วแต่สถานการณ์ของแต่ละร้าน และถ้านายจ้างต้องปิดตัวไป หรือปิดชั่วคราว ก็ทำให้ผู้ถือวีซ่ากลุ่มนี้ไม่มีงานทำ ซึ่งสิ่งนี้จะขัดต่อเงื่อนไขของวีซ่าที่กำหนดให้คนกลุ่มนี้จะต้องมีงานทำให้กับนายจ้างที่เป็นสปอนเซอร์ให้ตลอดระยะเวลาของวีซ่า มิฉะนั้นแล้วก็จะต้องออกจากประเทศออสเตรเลียไปตามเงื่อนไขของวีซ่า เช่น

– สำหรับผู้ถือวีซ่า 457 ที่ได้วีซ่ามาก่อนวันที่ 16 พฤศจิกายน 2016 ห้ามว่างงานนานเกินกว่า 90 วัน

– ผู้ถือวีซ่า 457/482 ซึ่งได้รับวีซ่ามา ณ วันที่หรือหลังวันที่ 16 พฤศจิกายน 2016 ไม่สามารถว่างงานนานเกินกว่า 60 วัน

– ปัญหาที่ตามมาอีกอย่างก็คือ ข้อบังคับให้ผู้ถือวีซ่า 457/482 จะต้องทำงานให้กับนายจ้างที่เป็นสปอนเซอร์คนล่าสุดของเขาเท่านั้น อันนี้ก็หมายความว่า ถ้าหากว่านายจ้างเขาเกิดต้องปิดกิจการไป บุคคลเหล่านี้ก็จะตกงาน และซ้ำยังไม่สามารถหานายจ้างคนใหม่เป็นสปอนเซอร์ให้ หรือหากหานายจ้างใหม่เป็นสปอนเซอร์ให้ได้ก็จริง แต่จะต้องใช้เวลาอีกกี่นานในการรอให้รัฐบาลอนุมัตินายจ้างคนใหม่ถึงจะมีสิทธิ์ทำงานให้นายจ้างใหม่ได้ เป็นต้น


ในกรณีที่นายจ้างปิดตัวลงและผู้ถือวีซ่าชั่วคราวต้องบินกลับเพราะหานายจ้างใหม่ไม่ได้ คุณหมอวีซ่ามีข้อแนะนำสำหรับผู้ถือวีซ่า 457/482 ที่ได้รับผลกระทบอย่างนี้ ก็คือ ให้ขอจดหมายจากนายจ้างเป็นลายลักษณ์อักษร หรือเป็นอีเมลว่า นายจ้างได้จ่ายค่าตั๋วเครื่องบินให้กับผู้ถือวีซ่าบินกลับประเทศของตนเองเพราะนายจ้างปิดตัวลงจึงไม่มีงานให้ทำต่อแล้ว เพื่อเก็บประวัติดีๆของตนเองไว้เผื่อเปิดทางให้อนาคตของตนในการขอวีซ่ากลับมาใหม่ได้อีกในช่วงที่โคโรน่าผ่านไปแล้ว แต่ที่ยากก็คือตอนนี้ตั๋วเครื่องบินก็หายากมากในปัจจุบันเพราะสายการบินต่างๆก็หยุดบินชั่วคราวเช่นกัน

แต่สำหรับคนที่จะอยู่ต่อในออสเตรเลียหลังจากที่ถูกเลิกจ้างนั้น จะต้องมีวีซ่าตัวอื่นรองรับรวมทั้งประกันสุขภาพด้วยนะคะ ตามความเห็นคุณหมอวีซ่า หากอยู่ต่อได้ หรือ มีความจำเป็น ก็ควรหาทางอยู่ต่อนะคะ เพราะข่าวออกมาว่าตอนนี้รัฐบาลกำลังประชุมว่าจะมีนโยบายช่วยเหลือคนกลุ่มนี้ได้อย่างไรทั้งในเรื่อง Medicare กับ Social Welfare ยกตัวอย่างเช่น มีการเสนอให้รัฐบาลต่อวีซ่าให้กับคนกลุ่มนี้ในกรณีที่วีซ่าของเขาใกล้หมดไปจนถึงวันที่ 30 ตุลาคม 2020 โดยยกเว้นค่าต่อวีซ่าให้ รวมทั้งให้สิทธิ์ใช้เมดิแคร์ได้ด้วยในกรณีฉุกเฉิน หรืออนุญาตให้ทำงาน part time ไปพลางๆก่อนได้ เป็นต้น หรือกระทั่ง มีการเสนอให้รัฐบาลช่วยออกงบจ่ายเงินช่วยค่าครองชีพให้ผู้ถือวีซ่า 457/482 ในช่วงที่ว่างงานในระยะการแพร่ระบาดของโควิด-19 บ้างก็มีข้อเสนอ ให้บุคคลเหล่านี้หันเหไปทำงานในอาชีพที่ขาดแคลนแรงงานอย่างมาก เช่น ช่วยเหลืองานด้านการรักษาพยาบาล หรือดูแลผู้สูงอายุ เป็นต้น

ที่สำคัญเป็นอย่างยิ่งคือ ผู้ถือวีซ่าทั้งหลายที่ยังอยู่ในออสเตรเลีย (onshore) จะต้องดูแลและจัดการเรื่องสถานะของวีซ่าของตัวเองให้อยู่ในออสเตรเลียได้อย่างถูกต้องตามกฎหมาย ช่วงนี้ ในการขอต่อวีซ่าภายในประเทศออสเตรเลียนั้นรัฐบาลจะมีความยืดหยุ่นให้การอนุมัติวีซ่าค่อนข้างมาก ดังนั้นหากวีซ่าของท่านใกล้จะหมดและต้องการปรึกษาหาวิธีต่อวีซ่าใหม่ในช่วงนี้ โดยที่ในช่วงต่อวีซ่า ท่านก็จะได้รับBridging Visa A (BVA) มาครองในระหว่างที่รอวีซ่าตัวใหม่ออก แต่ถ้าปล่อยให้วีซ่าขาด หลายเรื่องยุ่งก็จะตามมาเพราะประวัติก็จะเสีย หรือ Bridging visa ที่ได้ ก็จะได้เป็น BVE แทนซึ่งไม่เป็นที่พึงประสงค์ค่ะ


คุณหมอวีซ่าและทีมงานได้ดูแลเรื่องวีซ่าให้กับลูกค้ามาตั้งแต่ปี ค.ศ. 1997 สามารถช่วยขอวีซ่า หรือแก้ปัญหาวีซ่าให้ท่านได้ โดยเฉพาะในยุคของ COVID-19 ช่วงนี้เพื่อความปลอดภัยและสวัสดิการของทีมงานและลูกค้า ทีมงานเราก็ทันยุคทำงานจากบ้านกัน แต่ยังคงให้บริการท่านอยู่เหมือนเดิมค่ะ ท่านสามารถติดต่อทีมงานเราได้ที่:

โทรศัพท์​
081-359-6190 (พี่เมย์)​
081-359-6189 (พี่มิกะ)​

หรือติดต่อเราได้ตามช่องทางด้านล่างนี้​
📩 may@cpinternational.com, mika@cpinternational.com, marketing1@cpinternational.com​
📲 Line: @cpinter ​ (มี@ด้วยนะคะ)​
💻 FB: เรียนต่อต่างประเทศ วีซ่า แปลภาษา by CP International
🌎 https://cpinternational.com/​